COVID-19

‘WHO’ เฉลยชัด สาเหตุไวรัสกลายพันธุ์ เกิดจากอะไร แบบไหนน่ากลัว

WHO ประเทศไทย เปิดกระบวนการไวรัสกลายพันธุ์ เปลี่ยนแปลงจีโนม เกิดไวรัสลูกผสม เพราะอะไร

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย โพสต์เพจเฟซบุ๊ก World Health Organization Thailand ถึงการปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัส แบบไหนนำไปสู่การระบาดใหญ่ สร้างสายพันธุ์ลูกผสม โดยระบุว่า

WHO

เมื่อไวรัสเพิ่มจำนวน สิ่งที่จะตามมาโดยปกติก็คือ การเปลี่ยนแปลงในองค์ประกอบทางพันธุกรรมของไวรัส

การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเล็กน้อยมาก เช่น การกลายพันธุ์เฉพาะจุด (point mutation) ซึ่งอาจประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งเดียวใน คู่เบส และอาจไม่ส่งผลอะไรเลย และจะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อ ห้องปฏิบัติการทำการไล่ลำดับจีโนมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการกลายพันธุ์เฉพาะจุด ก็อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้ หากเกิดขึ้นในส่วนที่สำคัญมากของจีโนม เช่น อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโปรตีนที่ผิวของไวรัสที่เรียกว่า แอนติเจน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เกิดขึ้น หากมันไม่ทำให้ไวรัสตายไปเสียก่อน มันก็จะถูกส่งต่อเมื่อไวรัสทำการเพิ่มจำนวน หากเกิดการกลายพันธุ์อีก และกลายพันธุ์สะสมไปเรื่อย ๆ จีโนมของไวรัสก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป

บางครั้งเราเรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่ผิวโปรตีนของไวรัสว่า antigenic drift  (การกลายพันธุ์ทีละน้อย และเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดเวลาอย่างช้า ๆ) ปรากฏการณ์นี้เป็นสาเหตุให้เราต้องรับวัคซีนชนิดใหม่เพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี

นอกจากนี้ ในระหว่างการเพิ่มจำนวน ไวรัสอาจแลกเปลี่ยนสารพันธุกรรมชิ้นใหญ่ระหว่างกันและกัน หรือที่เรียกว่า recombination (ไวรัสลูกผสม)

ไวรัส 3

การเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้คล้ายกับการกลายพันธุ์เฉพาะที่ ในแง่ที่ว่ามันอาจส่งผลเสียต่อไวรัสหรือไม่มีผลใด ๆ เลย แต่หากมันส่งผลดีต่อไวรัส สายพันธุ์นี้ก็จะคงอยู่ต่อไป

กระบวนการเกิดสายพันธุ์ลูกผสม อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในผิวโปรตีนของไวรัส

นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า antigenic shift  (การกลายพันธุ์แบบฉับพลัน) ซึ่งเกิดได้ยากกว่า แต่อาจส่งผลให้ไวรัสมีหน้าตาที่เปลี่ยนไปมาก จนระบบภูมิคุ้มกันของเราจำไม่ได้ การกลายพันธุ์ในลักษณะนี้นำไปสู่การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในอดีต

ผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับว่ามันทำให้การแพร่เชื้อและความรุนแรงของการเจ็บป่วย เปลี่ยนไปมากแค่ไหน

การกลายพันธุ์ที่สำเร็จส่วนใหญ่ ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้อที่ดีขึ้น สายพันธุ์ใหม่จึงสามารถ แข่งชนะสายพันธุ์ก่อนหน้า ได้

เช่น ใน 6 เดือนที่ผ่านมา การระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวลอันประกอบด้วย อัลฟา เบตา และแกมมา ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และใน 90 วันที่ผ่านมา มีรายงานการติดเชื้อจากสายพันธุ์เหล่านี้น้อยมาก

ในทำนองเดียวกันสายพันธุ์โอไมครอนก็กำลังเข้ามาแทนที่เดลตาอย่างต่อเนื่อง

ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จะส่งผลต่อระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา แม้ว่าเราอาจจะพอหาข้อมูลสำคัญจาก ตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรมที่ปรากฏอยู่ได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเวลาผ่านไป ไวรัสสายพันธุ์ใหม่มักจะกลายเป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการก่อโรคต่ำลง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo