COVID-19

โควิด ยังไม่ถึงเวลาเป็นโรคประจำถิ่น ‘หมอประสิทธิ์’ ห่วงเด็กเปิดเทอม

“หมอประสิทธิ์” เผย WHO เตือนโควิดยังไม่เข้าสู่โรคประจำถิ่น แม้อยู่ในช่วงขาลง ห่วงเปิดเทอมเร่งฉีดวัคซึนเด็กป้องกัน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าสถานการณ์โควิดทั่วโลกและในประเทศไทย ผ่านเพจเฟซบุ๊ก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยระบุว่า ขณะนี้สายพันธุ์โอไมครอนยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลก ขณะที่เดลตาเหลือเพียงเล็กน้อย

หมอประสิทธิ์

ขณะที่ยอดติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่ 500 ล้านคน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งการระบาดของทั่วโลกออกเป็น 6 ทวีป พบว่า ทวีปยุโรป มีการแพร่ระบาดสูงที่สุด รองลงมา คือ แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การระบาดในทวีปยุโรป ถือว่าเลยจุดสูงสุดไปแล้ว เช่นเดียวกับทวีปอเมริกา ที่มีอัตราการแพร่ระบาดลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การระบาดอยู่ในช่วงขาลงเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ การกลายพันธุ์เกิดสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน เช่น สายพันธุ์เอ็กซ์อี (XE) ที่แพร่กระจายรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมมากกว่า 10% แต่ไม่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

โควิดโลก

ส่วนแนวโน้มของการเป็นโรคประจำถิ่นนั้น สถานการณ์ในเวลานี้การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศในขณะนี้ ยังไม่เข้าข่ายของการเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีโอกาสที่จะกลับมาเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ได้อีก

หมอประสิทธิ์ ห่วงเปิดเทอม จี้เร่งฉีดวัคซีนเด็ก

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงเปิดเทอมปี 2565 นี้ อาจยากที่จะหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนได้ จึงต้องเร่งให้เด็กนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งในขณะนี้มีการฉีดวัคซีนในเด็กไปได้เพียงครึ่งหนึ่งเพียงเท่านั้น สำหรับเข็มหนึ่ง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการค้นพบกลุ่มอาการในเด็กที่ติดโควิด-19 และเกิดภาวะอักเสบขึ้นในหลาย ๆ อวัยวะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองจะต้องนำเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้

ส่วนการยกเลิก Test & Go หากรัฐบาล ดำเนินการอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ก็จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาด จากการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในเวลานี้ พบว่าการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ถือว่ามีสัดส่วนน้อยกว่าการติดเชื้อในครอบครัวภายในประเทศ

โควิดไทย

การป้องกันความเสียหายจากโควิด-19 คือลดโอกาสการติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงการเสียชีวิตเมื่อเกิดการติดเชื้อ

สำหรับวิธีที่สุดในเวลานี้ คือ การฉีดวัคซีน 2 เข็มและเข็มกระตุ้น ร่วมกับการใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเช่นเดิม ร่วมกับการตรวจ ATK เป็นประจำ

ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าโควิด-19 ยังไม่เข้าสู่สถานการณ์ของการเป็นโรคประจำท้องถิ่น แม้จะมีแนวโน้มพุ่งไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่นก็ตาม และอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ และการระบาดใหญ่ได้อีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น การที่โควิค-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ขึ้นอยู่กับปัจจัยการบริหารจัดการ จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเพียงพอ รวมไปถึงศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo