COVID-19

‘หมอธีระ’ แนะ 5 ข้อต้องทำ!! หลังกลับจากสงกรานต์ ห่วงเด็กติดโอไมครอน ทำเจ็บ-ตายพุ่ง

“หมอธีระ” แนะ 5 ข้อต้องทำ!! หลังเดินทางกลับจากสงกรานต์ เตือนผู้ปกครองดูเด็กเล็ก หวั่นติด “โอไมครอน” ทำป่วยหนัก เสียชีวิตได้มาก

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 17 เมษายน 2565 ไทยผ่านช่วงพีคมาตั้งแต่ 10 มีนาคม 2565 ขาลงใช้เวลาราว 1.5 เท่าของขาขึ้น ตามลักษณะที่เห็นจากธรรมชาติการระบาดของประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

หมอธีระ

ไทยผ่านช่วงพีคมาตั้งแต่ 10 มีนาคม 2565

จึงสังเกตได้จากภาพที่ 3 และ 4 ว่ากราฟการระบาดที่แสดงจำนวนการติดเชื้อจากรายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวน ATK มีลักษณะเหมือนกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ด้วยเงื่อนไขของไทย ที่มีเสรีการใช้ชีวิตมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ร่วมกับเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ ก็จะมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการปะทุระบาดหนักมากขึ้นได้คล้ายกับหลายประเทศในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะปะทุจนทำให้จำนวนการติดเชื้อต่อวันสูงขึ้นเป็น 2-3 เท่าของ baseline ก่อนเกิดการปะทุ ภายในเวลา 3-4 สัปดาห์

ดังนั้น หากยอด RT-PCR รวมกับ ATK ในจุดที่ต่ำสุดอยู่ราว 30,000 การปะทุก็น่าจะทำให้เกิดจำนวนติดเชื้อมากขึ้นราว 2-3 เท่า ถ้าเป็นไปตามลักษณะของต่างประเทศ

หมอธีระ

แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ สงกรานต์ปีที่แล้ว ในช่วง 2 สัปดาห์หลังของเมษายนเราพบว่าการติดเชื้อเฉลี่ยต่อวันสูงขึ้นเป็น 3 เท่าของช่วงก่อนสงกรานต์ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ที่มีจำนวนสูงขึ้นไปอีกเป็น 2 เท่าของปลายเมษายน

คงต้องติดตามดูต่อไปว่า การระมัดระวัง ป้องกันตัวของเราทุกคนจะช่วยลดโอกาสเกิดการปะทุซ้ำได้มากน้อยเพียงใด เพราะพฤษภาคมจะมีการเปิดเทอมของเด็ก ๆ ซึ่งหากจำนวนติดเชื้อในชุมชนสูงมาก ก็คงน่าเป็นห่วง เพราะมีเด็กเล็กอีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะรับวัคซีนได้ และมีอีกไม่น้อยที่แม้อยู่ในช่วงอายุที่รับวัคซีนได้ ก็ยังไม่ได้ไปรับ

การติดเชื้อ Omicron ในเด็กเล็ก นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิตได้มาก

ผู้ปกครองควรดูแล ป้องกันเด็ก ๆ ของเราให้ดี

หมอธีระ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่กลับจากเดินทางสงกรานต์

  1. ไม่ว่าจะสบายดีหรือไม่ก็ตาม ควรตรวจ ATK ด้วยตนเองสัก 2 ครั้งในสัปดาห์หน้า ห่างกัน 3-5 วัน
  2. ทำงานที่บ้านตลอดสัปดาห์หน้า แต่หากจำเป็นต้องออกนอกบ้าน โปรดใส่หน้ากากเสมอ เช็คให้เแน่ใจว่าปิดปากปิดจมูกและแน่นเพียงพอ กระชับใบหน้า ไม่ใช่แปะไว้บนใบหน้าพอเป็นพิธี
  3. สถานที่ทำงานใด ๆ ที่เปิดให้คนเข้ามาทำงาน หรือต้องบริการลูกค้า ควรตรวจ ATK สำหรับบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสอบ สังเกต ว่ามีคนไม่สบาย ไอ จาม เจ็บคอ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หรือไม่ หากมี ต้องตรวจ แม้ผลเป็นลบโดยยังมีอาการ ก็ควรให้หยุดงาน ไปรักษาให้หายดีเสียก่อน ระหว่างหยุดพักรักษาตัวก็ควรตรวจซ้ำเป็นระยะ
  4. งดการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ทั้งที่ทำงาน และอื่น ๆ นอกบ้าน เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง
  5. บ้านใด ยังสบายดี ก็ไม่ควรประมาท วางแผนรับมือเผชิญเหตุไว้ล่วงหน้า เตรียมข้าวของอุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็นและห้องหับให้เรียบร้อย จะได้ไม่วุ่นวายเวลาสมาชิกในบ้านเกิดปัญหาติดเชื้อขึ้นมากระทันหัน

ขอให้ปลอดภัยไปด้วยกันทุกคน…

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK