COVID-19

‘หมอธีระ’ ย้ำ! โควิดในประเทศยังรุนแรง รวม ATK ยังพุ่งติด Top 5 ของโลก

“หมอธีระ” ย้ำ!! สถานการณ์โควิดในประเทศยังรุนแรง ยอดติดเชื้อรวม ATK ยังพุ่งติด Top 5 ของโลก ลั่นการป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
12 เมษายน 2565 499.6 ล้านไปแล้ว พรุ่งนี้จะทะลุ 500 ล้านคน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 515,032 คน ตายเพิ่ม 1,917 คน รวมแล้วติดไปรวม 499,630,064 คน เสียชีวิตรวม 6,205,365 คน

โควิดในประเทศ

ไทยพุ่งอันดับ 5 ของโลก

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และอิตาลี (แต่หากรวม ATK ไทยเราจะเป็นอันดับ 5 ของโลก ติดต่อกันเป็นวันที่สอง)

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 83.02% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 84.66%

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 39.08% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 32.65%

…สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองเพียงเกาหลีใต้

…วิเคราะห์ผลลัพธ์จากการบริหารนโยบายสาธารณสุขและป้องกันควบคุมโรค

โควิดในประเทศ

ผลลัพธ์สำคัญที่เห็นคือ

หนึ่ง จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK ติด Top 5 ของโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นเป็นขาลง แต่การระบาดของเรายังรุนแรงต่อเนื่อง

สอง จำนวนเสียชีวิตต่อวัน ติดอันดับ Top 5-10 ของโลกติดต่อกัน นอกจากนี้ล่าสุดเมื่อวานนี้จำนวนการเสียชีวิตต่อวันของเราเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย และคิดเป็น 5.47% ของการเสียชีวิตทั้งหมดทั่วโลก และ 16.77% ของเอเชีย

สาม ข้อมูลจาก Ourworldindata จากทั้ง 2 ภาพ จะเห็นได้ว่า ถ้าเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้าการระบาด ไทยเรามีการเสียชีวิตที่สูงกว่าเดิมมาก (Excess mortality rate) นับตั้งแต่การจัดการระบาดระลอกสอง สาม และสี่เป็นต้นมา แสดงถึงผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากการบริหารนโยบายและมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมป้องกันโรค และการจัดระบบบริการดูแลรักษา

ผลลัพธ์ข้างต้น น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร

โควิด-19 เอาอยู่ เพียงพอ กระจอก หรือธรรมดา จริงหรือไม่?

…Mindset ที่ถูกต้องเหมาะสม จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี

โดยหลักการแล้ว สงครามโรคที่รุนแรงนั้น ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกจำเป็นต้องมีจุดยืนบน mindset ที่ไม่ปรามาสด้อยค่าสมรรถนะของเชื้อโรค เน้นเรื่องลดความเสี่ยง มุ่งหาทางทำให้เกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตแก่คนในสังคม

หากทำเช่นนั้นได้ ก็จะสะท้อนออกมาเป็นนโยบายและมาตรการที่ลดความเสี่ยง ไม่ใช่เพิ่มความเสี่ยง และการวางแผนจัดการเรื่องยา และวัคซีน ทั้งในเรื่องความสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้ว ปริมาณ ระยะเวลาที่จัดหามาได้ กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดและส่งผลต่อการเข้าถึงสำหรับทุกคน

ไม่ใช่จัดแล้วทำให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรม (Health inequity) เกิดปัญหารหัสลับเพื่อลัดคิวหรือเข้าถึงโดยเส้นสายดังที่เห็นบทเรียนมากมายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โควิดในประเทศ

…อัพเดตงานวิจัย Long COVID

Sugiyama A และคณะจากประเทศญี่ปุ่น รายงานผลการศึกษาเชิงสำรวจเกี่ยวกับ Long COVID ในผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 127 คน จาก 2 โรงพยาบาลในเมืองฮิโรชิม่า ช่วงสิงหาคม 2563-มีนาคม 2564

พบว่า ณ ช่วงเวลาที่ทำการสำรวจนั้น มีผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติต่อเนื่องภายหลังจากติดเชื้อในช่วงแรกถึง 52%

โดยคนที่เคยติดเชื้อแบบมีอาการน้อยก็รายงานว่ามีอาการคงค้างสูงถึง 49.5% ทั้งนี้ อาการที่พบบ่อยมักเป็นปัญหาเรื่องการดมกลิ่น การรับรส ไอ เป็นต้น เทียบกันแล้วพบว่า คนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการคงค้างมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปีลงมา ถึง 3.63 เท่า

จากผู้ป่วยที่มี Long COVID ทั้งหมด พบว่ามีถึง 29.1% ที่ส่งผลกระทบต่อสมรรถนะการทำงาน

นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญอีกเรื่องคือ การถูกตีตราทางสังคมหรือกีดกัน (Stigma and discrimination) ที่พบได้มากถึง 43.3%
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นความสำคัญในการที่แต่ละประเทศควรเตรียมระบบบริการดูแลรักษา ฟื้นฟูสภาพ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย Long COVID ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากในอนาคตหลังจากผ่านพ้นระยะการระบาดหนักไป

ไม่ใช่แค่ปัญหาด้านการแพทย์ แต่สิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

สุดท้าย…bottomline

การป้องกันตัวเองและครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

หัวใจสำคัญคือ การใส่หน้ากากครับ เพราะคือปราการด่านสุดท้ายของทุกคน

อ้างอิง Sugiyama A et al. Long COVID occurrence in COVID-19 survivors. Scientific Reports. 11 April 2022.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK