COVID-19

‘ดร.อนันต์’ รวบรวม 6 สาเหตุเกิดอาการ ‘ลอง โควิด’ รู้เลย ทำไมเชื้อหายแต่ไม่จบ

“ดร.อนันต์” ชี้กลไกเกิดอาการ ลอง โควิดมีมาก สรุป 6 สาเหคุเกิดอาการ ลอง โควิด ใครติดเชื้อแล้วไม่เป็นถือว่าโชคดี

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เผยสาเหตุอาการ ลอง โควิด โดยระบุว่า

อาการ ลอง โควิด

ลอง โควิด (Long COVID) เป็นประเด็นที่เริ่มมีคนสนใจกันมากขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องนี้เป็นหัวข้อวิจัยที่มีการศึกษากันมานานพอสมควรแล้ว

สิ่งที่ชัดคือ อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ สามารถพบได้ในผู้ป่วยโควิดบางราย ที่เคลียร์ไวรัสออกจากร่างกายไปหมดแล้ว

แต่สิ่งที่ยังไม่ชัดคือ อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Long COVID ที่ว่านั้น สาเหตุหลัก ๆ ที่มีผู้เชี่ยวชาญรวบรวมมาคือ

1. โปรตีนของไวรัสที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายของผู้ป่วย ถึงแม้ว่าอนุภาคไวรัสใหม่อาจจะไม่มีเพิ่มขึ้นมาแล้ว แต่สมบัติของไวรัสที่ทิ้งไว้ อาจจะส่งผลให้เกิดสิ่งผิดปกติขึ้น ถ้าไปสะสมอยู่ในเซลล์ หรืออวัยวะบางตำแหน่งของร่างกาย

2. ผลจากการอักเสบของเนื้อเยื่อ ที่ร่างกายพยายามต่อต้านการเพิ่มจำนวนของไวรัสในระหว่างติดเชื้อ ถึงแม้ว่าไวรัสจะถูกทำลายไปหมดแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ตามมา

ลองโควิด

3. ปรากกฏการณ์ที่ร่างกายไปปลุกไวรัสที่แอบอยู่ในร่างกายให้ตื่นขึ้น และทำให้ร่างกายเกิดความเสียหาย เช่นไวรัสในตระกูล herpesviruses ซึ่งปกติจะแอบแฝงตัวเงียบ ๆ หนีการทำลายของระบบภูมิคุ้มกัน แต่ถ้าร่างกายมีสิ่งเร้า เช่น ความเครียด ไวรัสดังกล่าวจะถูกปลุกขึ้นมาได้ ซึ่ง Long COVID อาจจะมีสาเหตุมาจากไวรัสเหล่านี้ได้เช่นกัน

4. ระบบจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร หรือ Microbiome ถูกรบกวน ทำให้ขาดสมดุลของการทำงาน โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ

5. การทำงานของระบบหลอดเลือด โดยเฉพาะกลไกการเข็งตัวของเลือดที่ถูกรบกวน

6. อาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากแอนติบอดี ที่ร่างกายสร้างขึ้นต่อโปรตีนต่าง ๆ ของไวรัส SARS-CoV-2 ซึ่งอาจจะมีผลพลอยได้ที่ไม่คาดคิด เช่น อาจจะไปจับโปรตีนตัวอื่นของร่างกายเราที่หน้าตาใกล้เคียงกับโปรตีนของไวรัส แล้วส่งผลให้ภูมิของร่างกายของเราไปทำให้เซลล์ หรือ เนื้อเยื่อที่มีโปรตีนเหล่านั้นเสียหาย หรือ ถูกทำลาย เป็นต้น

จะเห็นว่า กลไกการเกิด Long COVID มีเยอะครับ และอาจจะมากกว่าที่ทราบอยู่ตอนนี้ก็ได้ ใครติดแล้วไม่มีอาการเหล่านี้ถือว่าโชคดีมากครับ

แต่ถ้าติดซ้ำอีก ยังไม่มีข้อมูลออกมานะครับว่า จะโชคดีเหมือนครั้งแรกหรือเปล่า นะครับ ยังเดาใจไวรัสไม่ค่อยถูกทางครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo