COVID-19

เอาแล้ว!! บริษัทยาข้ามชาติ ขู่ อภ. ให้หยุดผลิตและนำเข้า ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’

บริษัทยาข้ามชาติ ขอให้ อภ.หยุดผลิตและนำเข้า ‘ยาโมลนูพิราเวียร์’ อ้างยื่นสิทธิบัตรไว้แล้ว เผยสาเหตุทำไมขู่ไทย?

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยระหว่างการประชุม บอร์ด สปสช. โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 ว่า ตามที่ได้มีข่าวว่าบริษัทยาข้ามชาติแห่งหนึ่งแจ้งว่า ได้ยื่นสิทธิบัตรยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และได้ขอให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) หยุดผลิตหรือนำเข้ายาโมลนูพิsาเวียร์ชื่อสามัญนั้น

ยาโมลนูพิราเวียร์

มีสิทธิบัตร 2 ใบในต่างประเทศ แต่ไม่มีในไทย

ในฐานะที่ทำงานด้านการเข้าถึงยาและสิทธิบัตรยา จึงได้ร่วมกับนักวิชาการ ภาคประชาสังคมรวมกันเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศ เพื่อตรวจสอบในประเด็นดังกล่าว และพบว่ายาโมลนูพิsาเวียร์มีสิทธิบัตร 2 ใบในต่างประเทศ ได้แก่ 1. Molnupiravir and analogues (Markush structure) and their use as antivirals และ 2. Molnupiravir compound and its use as antiviral แต่สิทธิบัตรทั้ง 2 ใบนี้ไม่ได้ถูกนำมาขอสิทธิบัตรในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ อ้างว่าได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรที่คาดว่าเป็นไปได้นั้น จะเป็นเรื่องการขอใช้ยา ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถตรวจสอบการขอขึ้นทะเบียน ตามที่บริษัทฯ อ้างไว้ได้ แต่หากเป็นเรื่องการใช้ยานั้น กฎหมายสิทธิบัตรไทยไม่อนุญาตให้สิทธิบัตรตรงนี้

ยาโมลนูพิราเวียร์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

เผยสาเหตุขู่ไทย เพราะราคาซื้อต่อคอร์ส 10,000 บาท หากผลิตเอง เหลือ 800 บาท

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การเน้นย้ำในประเด็นนี้ เป็นเพราะยาที่สั่งซื้อจากบริษัทข้ามชาติ จะมีราคาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคอร์ส ในขณะเดียวกันหาก อภ. ซื้อยาจากบริษัทในประเทศอินเดีย หรือสามารถผลิตได้เองในประเทศไทย จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 800 บาทต่อคอร์สเท่านั้น

“อยากให้ท่านรัฐมนตรี และรัฐบาลยืนยันอย่างแข็งขันให้องค์การเภสัชฯ เดินหน้าต่อไป อย่าเชื่อเพียงคำขู่ของบริษัทยาข้ามชาติ ว่าเขามีคำขอ ทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ อยากจะสนับสนุนให้เราสามารถพึ่งตัวเองด้านยาได้” น.ส.กรรณิการ์ ระบุ

ยาโมลนูพิราเวียร์

อนุทิน หนุน องค์การเภสัชฯ เพื่อให้ได้ยาราคาถูก

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ น.ส.กรรณิการ์ได้เสนอนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะสามารถซื้อยาได้ในราคา 800 บาทต่อคอร์ส หรือต่ำกว่านั้นได้  และนี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ก่อนหน้านั้น อนุมัติการสั่งซื้อยาโมลนูพิsาเวียร์ จำนวน 200,000 คอร์ส หรือประมาณ 10 ล้านเม็ด จากจำนวน 2 ล้านคอร์ส ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่มียาโมนูพิราเวียร์ใช้ในประเทศไทย และอาการทางกายภาพของผู้ป่วยบางรายปฏิเสธยาฟาวิพิราเวียร์

สอดคล้องกันกับยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) จากบริษัทไฟเซอร์ แต่ยาแพกซ์โลวิดมีเอกสาร มีการรายงานผู้ป่วย ฯลฯ ทำให้สามารถเจาะจงได้ว่าเป็นยาที่จะนำมารักษาโควิด-19 ซึ่งส่วนนี้ก็กำลังพิจารณา แต่ก็ได้มีการสั่งซื้อเบื้องต้นไปแล้ว จำนวน 50,000 คอร์ส

โดยขณะนี้ อภ. กำลังเร่งในส่วนของยาโมลนูพิราเวียร์ รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เองก็ได้รับนโยบายที่ชัดเจนว่า หากเป็นยาที่ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ต้องพิจารณาแบบสถานการณ์ฉุกเฉิน

การได้เห็นภาคประชาชนช่วยกันสนับสนุนก็ยิ่งทำให้เกิดกำลังใจกับคนทำงาน พวกเราก็รับแรงกดดันทุกด้าน ในขณะนี้ยังผลิตไม่ได้เราก็จำเป็นที่จะต้องไปซื้อยาที่มีราคาค่อนข้างสูง แต่ขอให้คำยืนยันว่าถ้ามีโอกาสซื้อได้ถูกเมื่อไหร่ เราก็ต้องเอาตรงนี้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้รับทราบข้อห่วงใย และสถานการณ์กรณียาโมลนูพิราเวียร์ และกระบวนการยื่นจดสิทธิบัตรยาในประเทศไทย ที่ดําเนินการภายใต้หลักการข้อกฎหมาย โดยคํานึงถึงประโยชน์ของประชาชน เพื่อให้เข้าถึงยาที่จําเป็นอย่างเหมาะสม

ยาโมลนูพิราเวียร์
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัด กระทรวงพาณิชย์ (พณ.)

ปลัดพาณิชย์ฯ ชี้ แค่คำขอยังไม่ได้รับการจดทะเบียน ขู่เรียกค่าเสียหายจากไทยไม่ได้

ขณะที่ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัด กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กล่าวว่า ยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องสิทธิบัตรจะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายที่ถูกกำหนด และจะไม่มีการหักหลบ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณียาฟาวิพิราเวียร์ ที่ขณะนี้มีการผลิตใช้ในประเทศแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าจะมีการอ้างอย่างไร กฎหมายก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ขอยืนยันว่าการพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมตามที่ระบุไว้ในข้อกฎหมายอย่างแน่นอน

“ขอเรียนว่าคำขอสิทธิบัตรไม่ได้เป็นเหตุที่จะนำมาห้าม สั่ง หรือบังคับคนอื่นว่าห้ามผลิต เนื่องด้วยเหตุที่ว่ามีการยื่นคำขอไว้แล้ว อันนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย ตราบใดที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับการจดทะเบียน แต่ว่าก็จะมีการนำไปขู่บอกว่าขอไปแล้ว ถ้าผลิตขึ้นจะต้องจ่ายค่าเสียหาย อันนี้เป็นลักษณะคำขู่ แต่ไม่มีผลทางกฎหมายใดๆ ในการห้ามคนอื่นทำ ส่วนตัวคิดว่าการเข้าถึงยาของคนไทยเป็นสิ่งจำเป็น” นายบุณยฤทธิ์ ระบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo