COVID-19

สธ.วาดฉากทัศน์โควิดหลังสงกรานต์ แย่สุดติดเชื้อพุ่งวันละ 1 แสนราย เตรียมขยายเตียง-ตุนยา

สธ. ประเมินฉากทัศน์โควิดหลังสงกรานต์ คาดแย่สุดติดเชื้อพุ่งวันละแสนราย เสียชีวิต250 ราย สั่งขยายเตียง ตุนยา ระวังกลุ่มเสี่ยง

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์โควิด-19 หลังเทศกาลสงกรานต์ 2565 ว่า จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิต และมากกว่าปี 2564

ฉากทัศน์โควิด

อย่างไรก็ตาม หากดูจากรายงานผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นราย เสียชีวิตไม่เกิน 100 รายต่อวัน นับว่ายังเป็นไปตามที่คาดการณ์ จึงคาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ คือ ผู้เสียชีวิตขึ้นไปราว 100 รายเศษๆต่อวันในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม

ทั้งนี้ หากเทียบยอดผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตช่วงหลังสงกรานต์ 2 ปีก่อนกับปีนื้ คาดว่าสัดส่วนระหว่างการป่วยหนักต่อผู้ติดเชื้อลดลง เพราะช่วง 2 ปีก่อนติดเชื้อวันละไม่กี่พัน ขึ้นไปสูงสุด 23,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,300-1,400 ราย ปัจจุบันใส่ท่อช่วยหายใจราว 500 ราย หรือ 1 ใน 3 ของก่อนหน้านี้ แต่ติดเชื้อมากกว่าเดิม 2-3 เท่าถ้านับรวม ATK

สาเหตุที่คาดการณ์ว่าหลังสงกรานต์ จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการรวมกลุ่มในช่วงสงกรานต์ ประชาชนกลับบ้าน ไปเจอผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน จนอาจเกิดการแพร่เชื้อมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว

ที่ผ่านกลุ่มเด็กเล็กยังป่วยไม่มาก และไม่มีวัคซีนในกลุ่มเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะฉะนั้น กลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ส่วนเด็กเล็กที่ไม่มีโรคประจำตัวโอกาสที่จะป่วยหนักเกิดขึ้นได้น้อย

ป้องกันสงกรานต์

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ป้องกันตนเองและคนในครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะต้องเข้มมาตรการป้องกันตัวเองทุกที่ทุกเวลา โดยโฟกัส 3 อย่างสำคัญ คือ

1. ไม่รวมกลุ่มทานข้าวด้วยกันเป็นเวลานาน ถ้าทานข้าวร่วมกันต้องแบบใช้เวลาสั้น ๆ

2. ใส่หน้ากากอนามัยถ้าอยู่กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือกลุ่ม 608 หรือเด็กเล็ก ป้องกันไม่ให้ป่วยและไปรับวัคซีน

3. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดปาร์ตี้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุด้วย

ทั้งนี้ ฉากทัศน์โควิด ที่สธ.คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ หากคงมาตรการต่าง ๆ และประชาชนให้ความร่วมมือในระดับปัจจุบัน และมีการแพร่โรคต่อเนื่องไปทุกจังหวัดจนถึงช่วงสงกรานต์ ประเมินว่าผู้ติดเชื้อจะสูงสุดราว 5 หมื่นรายต่อวัน ในช่วงราว 19 เมษายน 2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 3,000 ราย ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 900 ราย และผู้เสียชีวิตกว่า 100 รายต่อวัน

สงกรานต์

ขณะที่ในระดับแย่ที่สุด กรณีที่ผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค ลดแยกกัก-กักตัว ฉีดวัคซีนทุกเข็มต่ำกว่า 2 แสนโดสต่อวัน ประชาชนส่วนใหญ่ย่อหย่อนต่อมาตรการป้องกันตนเอง จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว 1 แสนรายต่อวัน ช่วงหลังสงกรานต์ ผู้ป่วยปอดอักเสบสูงสุดราว 6,000 รายช่วงต้นเดือนพฤษาภาคม 2565 ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสูงสุดจะอยู่ที่ราว 1,700 ราย และผู้เสียชีวิตราว 250 รายต่อวัน

 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเตียงระดับ 2-3 ที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเหลืองและแดง ยังมีเพียงพอ ส่วนการพิจารณารายจังหวัดจาก 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อสูงสุด ส่วนใหญ่เตียงระดับ 2 ขึ้นไปยังรองรับได้

อย่างไรก็ตาม ได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เอกชน กทม. โรงเรียนแพทย์เพิ่มเตียงเพื่อรองรับสถานการณ์หลังสงกรานต์ ถ้าเตียงเริ่มตึงก็ต้องขยายเตียงระดับ 2-3 โดยแต่ละที่การครองเตียงถ้าขึ้นมาถึง 80% ต้องขยายเพิ่ม

ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า มีการสำรองยาไว้เพียงพอในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดย สธ.แจ้งแผนความต้องการเป็นยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์รวม 75 ล้านเม็ดซึ่งอภ.ได้เตรียมสำรองไว้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo