COVID-19

‘หมอธีระ’ ย้ำ!! โควิดไม่กระจอก ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาสำหรับทุกคน

“หมอธีระ” ชี้ “โอไมครอน” รุนแรงน้อยกว่า “เดลต้า” เพราะลงปอดน้อยลง พร้อมย้ำ!! โควิดไม่กระจอก ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาสำหรับทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 30 มีนาคม 2565 ทะลุ 484 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,451,025 คน ตายเพิ่ม 3,864 คน รวมแล้วติดไปรวม 484,860,599 คน เสียชีวิตรวม 6,155,677 คน

หมอธีระ

สถานการณ์โควิดทั่วโลก

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 89.01% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 70.08%

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 33.73% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 23.44%

หมอธีระ

…สถานการณ์ระบาดของไทย

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก

…โควิด-19 ไม่กระจอก

…โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา

…โควิด-19 ไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับไวรัสอื่นในอดีตแล้วตีขลุมว่าเหมือนกัน

โควิด-19 เป็นโรคใหม่ ที่โลกเพิ่งรู้จักมาไม่กี่ปี

เราทราบกันชัดเจนว่าทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกอย่างรุนแรงที่สุดในรอบกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ดังที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศไปแล้ว

เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ไปหลากหลายสายพันธุ์ และทำให้เกิดการระบาดหลายระลอก แต่ละระลอกมีความหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น สายพันธุ์จี อัลฟ่า เบต้า เดลต้า และโอไมครอนในปัจจุบัน

แม้ปัจจุบันโอไมครอนจะดูรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า เพราะลงปอดน้อยลง อยู่ในทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น แต่แลกมาด้วยสมรรถนะการแพร่เชื้อติดเชื้อที่เร็วกว่าเดลต้าอย่างมาก จำนวนการติดเชื้อจึงมหาศาลทั่วโลก แม้ความรุนแรงเฉลี่ยจะน้อยลง แต่ก็ยังทำให้จำนวนจริงของการป่วยและการตายก็ยังอยู่ในระดับที่สูงอยู่ดี

หมอธีระ

“โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดาสำหรับทุกคน”

ประโยคข้างต้นมาจากข่าวที่มีครอบครัวสูญเสียเด็กเล็กจากการติดโควิด-19 มีไข้สูง และไปรักษาที่รพ.ได้เพียง 10 ชั่วโมงก่อนเสียชีวิต

สังคมควรตาสว่าง ไม่หลงเชื่อกับความเชื่องมงายหรือแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็น “กระจอก เอาอยู่ ธรรมดา เพียงพอ” หรือแม้แต่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจผิดว่า ติด ๆ ไปเหอะ ไม่เป็นไรหรอก ติด ๆ ไปเหอะจะได้มีภูมิ หรือติดหลาย ๆ ครั้ง อาการจะน้อยลง เพราะจะมีภูมิ เป็นกันเยอะ ๆ จะได้เป็นโรคประจำถิ่น

หากไม่รู้เท่าทัน ไม่ติด ไม่ป่วย ไม่ตาย ไม่สูญเสีย…จะไม่มีทางเข้าใจ

ย้ำอีกครั้งว่า Omicron แม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลต้า แต่ติดง่าย ป่วยได้ ตายได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง นอกจากนี้แม้จะได้รับวัคซีนไปกี่เข็ม หรือไม่ได้รับก็ตาม ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่เราทุกคนควรปฏิบัติ ต้องเน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงลงได้ แต่ไม่ได้การันตี 100%

ในขณะที่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ก็สามารถติดเชื้อซ้ำได้ หากไม่ป้องกันตัว ความรู้ทางการแพทย์ปัจจุบันนั้นยังไม่สามารถฟันธงว่าติดเชื้อซ้ำแล้วจะอาการน้อยลงเสมอไป เพราะสายพันธุ์ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา งานวิจัยหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เม็กซิโก ฯลฯ ก็มีสะท้อนให้เห็นว่าความรุนแรงจากการติดเชื้อซ้ำอาจไม่ได้แตกต่างจากการติดเชื้อครั้งแรก นอกจากนี้ ความรู้เกี่ยวกับภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID ที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อนั้นมีชัดเจน ยิ่งติดเชื้อซ้ำก็ยิ่งมีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวมากขึ้นได้ ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อจึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดความประมาทในการใช้ชีวิต

ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้น ๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด แยกตัว หยุดเรียนหยุดงาน ไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ และหมั่นตรวจสอบสุขภาพของตนเอง หากผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจ และดูแลรักษาหากเป็น Long COVID ตั้งแต่เนิ่น ๆ

โควิด-19 ติด…ไม่ใช่แค่คุณ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK