COVID-19

น่าห่วง!! ผู้ป่วยโควิดอาการหนักยังเพิ่ม ‘หมอนิธิพัฒน์’ ลั่นไฟลามทุ่งจาก กทม. ไปทุกหัวระแหง

“หมอนิธิพัฒน์” ยังห่วงตัวเลขผู้ป่วยโควิดอาการหนัก กดไม่ลง ผลจากไฟลามทุ่ง จาก กทม. ปริมณฑล ออกไปถึงทั่วทุกหัวระแหง 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล หวั่นเป้าหมายลดสถิติผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง ไม่เป็นจริง หลังตัวเลขยังเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า

ผู้ป่วยโควิดอาการหนัก

ยังขึ้นไปกันต่อ สำหรับยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง ทำให้หมุดหมายที่จะเห็นสถิติตรงนีัเริ่มลดลงในวันพรุ่งนีั อาจไม่เป็นจริงเสียแล้ว

น่าจะเป็นผลของไฟลามทุ่งออกไปจาก กทม. และปริมณฑล ถึงทั่วทุกหัวระแหง และผู้ป่วยหนักส่วนใหญ่ก็เป็นผลจากโรคพื้นฐาน และการไม่ได้รับวัคซีน มากกว่าความรุนแรงจากโอไมครอน BA.2 ที่ครองพื้นที่หลักอยู่ในบ้านเราขณะนี้

ประเทศไทย กำลังเตรียมการเช่นเดียวกับหลายประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบการควบคุมโรค และการดูแลรักษาโรคโควิด-19 เยี่ยงโรคติดเชื้อตามฤดูกาลอื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือไข้เลือดออก โดยภาคการแพทย์จะแบ่งหน้าที่เป็น 4 ด้านคือ

  • ด้านการควบคุมโรคในชุมชน ไม่ให้เกิดการระบาดแผ่ไปเป็นวงกว้าง
  • ด้านการดูแลรักษาในโรงพยายาล กรณีอาการรุนแรง หรือโรคพื้นฐานอื่นกำเริบ
  • ด้านกฎหมาย เตรียมการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ พรก.ฉุกเฉิน มาเป็น พรบ.ควบคุมโรคติดต่อ
  • ด้านการสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมกับประชาชน ทั้งช่วงการปลี่ยนผ่าน และช่วงเข้าสู่จุดหมายเต็มตัว

ส่วนหนึ่งของงานภาคการแพทย์คือ ผนวกรวมผู้ติดเชื้อโควิด เข้าไปกับการดูแลผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาล โดยกำหนดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดในหอผู้ป่วยนั้น ๆ ซึ่งจะมีระบบป้องกันบุคลากร และผู้ป่วยอื่น เพื่อให้เพียงพอตามมาตรฐาน สำหรับลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อ

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๒๐๓๒๕ 0
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

เช่น ผู้ป่วยกระดูกขาหัก แต่พบมีการติดเชื้อโควิด ก็ให้รับไว้ในหอผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูกส่วนพื้นที่เฉพาะ (cohort zone)

ทำนองเดียวกันผู้ป่วยอุบัติเหตุทางสมอง ก็อยู่ในหอผู้ป่วยศัลยกรรม แต่ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องให้การดูแลรักษาที่เพิ่มการฟุ้งกระจายของละอองลอย (AGPs) หรือมีอาการปอดอักเสบโควิดรุนแรง จนต้องใช้ออกซิเจนไฮโฟลว์ขึ้นไป ก็จะย้ายออกไปดูแลต่อเนื่องในหอผู้ป่วยแยกโรค (isolation ward)

พูดง่าย ๆ คือ แพทย์ทุกแผนก จะต้องดูแลผู้ป่วยแผนกของตนเองที่ติดเชื้อโควิดได้ในขั้นต้น และถ้าอาการรุนแรงจนกลายเป็นผู้ป่วยโควิด จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์อายุรกรรมรับไม้ไปดูแลต่อในหอผู้ป่วยแยกโรค

ส่วนรายละเอียดอื่นของการดูแลรักษา และการป้องกันการติดเชื้อ สู่บุคลากรและคนรอบข้าง ผู้เชี่ยวชาญกำลังระดมสมองกำหนดรายละเอียดตามมา เช่นเดียวกับกฏหมายลูก เตรียมการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้า

สองวันก่อน กล่าวถึงการปรับปรุงแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ฉบับล่าสุดของบ้านเราไปแล้ว สำหรับในประเทศอังกฤษ ที่มีการออกเอกสารเรื่องการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (infection prevention and control) เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา โดยผนวกมาตรการรับมือโควิด คู่ไปกับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

เนื้อหาส่วนหนึ่ง ได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการปรับแนวทางใหม่ในการใช้เครื่องป้องกันตนเอง (PPE) ระหว่างการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะหน้ากากทางการแพทย์

หมอนิธิพัฒน์ 2

ในคำแนะนำล่าสุดของเขานั้น ให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ใช้หน้ากาก FFP3 (ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค 0.3 ไมครอนได้ 99% ถ้าเป็น N95 ได้ 95%) เฉพาะกรณีที่ต้องทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองลอยฟุ้งกระจาย (AGPs) ส่วนกรณีอื่น ๆ ใช้เพียงหน้ากากอนามัย (surgical mask) พอ

ซึ่งหน่วยงานทางการแพทย์คิดว่าไม่ปลอดภัย เหมือนการถอยหลังเข้าคลอง ไปยุคที่ไม่เชื่อเรื่องว่าโควิดแพร่ได้ในรูปละอองลอย (airborne) ในบางเงื่อนไข

ยิ่งในยุคโอไมครอน BA.2 หรือ BA2.2 ที่แพร่ง่ายทาง short-range aerosols ที่เคยกล่าวถึงไปแล้ว ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะใกล้แม้ไม่ได้ทำ AGPs แต่ถ้าผู้ป่วยไอหรือจามมาก การใช้แค่หน้ากากอนามัยน่าจะไม่เพียงพอ

บ้านเราเองยังไม่ได้ออกคำแนะนำที่หักหาญน้ำใจคนหน้างานเหมือนบ้านเขา และหวังว่าคงจะไม่ออกมาแบบนั้นด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่คนหน้างานร่อยหรอจากโควิดเองอยู่แล้ว

#อยู่ร่วมกับโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo