COVID-19

‘หมอธีระ’ ถาม! เราพร้อมยิ้มรับให้ ‘โควิด’ เป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือ?

“หมอธีระ” ถาม! เราพร้อมยิ้มรับให้ “โควิด” เป็นโรคประจำถิ่นแล้วหรือ? แนะมอง “โควิด” เป็นข้าศึก หากกำจัดมันออกไปไม่ได้ ก็ต้องรู้จักการป้องกันตัวในระยะยาว

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า คำถามที่ควรถาม… หากเสนอว่าจะปักธงประจำถิ่นด้วยเกณฑ์การตาย 0.1% หรือ 1 ต่อ 1,000 เป็นหนึ่งในเกณฑ์สำคัญที่จะใช้พิจารณา

โรคประจำถิ่น

เสี่ยงภาวะผิดปกติระยะยาว

ความตาย กับความทุพลภาพหรือพิการหรือการเจ็บป่วยเรื้อรังไปตลอดชีวิตนั้น ได้ถามคนในสังคมดูหรือยังว่าแบบใดที่แย่กว่ากัน?
ถ้าการติดเชื้อโควิด-19 นั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาว หรือ Long COVID 20-40% นั่นแปลว่า 100 คนมีโอกาสถึง 20-40 คน หรือ 200-400 ต่อ 1,000

แม้จะหวังว่า การฉีดวัคซีนครบอย่างน้อย 2 เข็ม อาจลดความเสี่ยงลงได้ราว 40% ขึ้นกับชนิดของวัคซีนตามบางงานวิจัย
นั่นแปลว่าหากตีให้เต็มที่ลดได้ครึ่งหนึ่ง โอกาสเกิด Long COVID เหลือ 10-20% หรือ 100-200 ต่อ 1,000

หรือบางคนอาจหวังลมลมแล้งแล้งว่า เชื้อชาติต่างกัน โอกาสเราชาวเอเชียคงน้อยกว่าเค้า ตีซะว่าลดไปเลยครึ่งหนึ่ง ก็ยังเหลือ 5-10% หรือ 50-100 ต่อ 1,000

คงเห็นภาพว่า ปัญหาระยะยาว Long COVID หรือ Post-acute COVID syndrome ที่จะส่งผลต่อภาวะทุพพลภาพทางกาย ใจ และสังคม และเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อคนที่ป่วย ครอบครัว และประเทศนั้นจะสูงเพียงใด

โรคประจำถิ่น

เราพร้อมยิ้มรับจริงหรือ?

…คำถามที่ควรถามใจตัวเองแต่ละคน ทั้งรัฐบาล หน่วยงานนโยบาย และประชาชนคือ “เราพร้อมยิ้มรับความเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 โดยใช้เกณฑ์ที่ประกาศออกมาจริงหรือ?”

ตายน้อยกว่า 0.1% และอัตราฉีดวัคซีนกระตุ้นเกิน 60%

ส่วนตัวแล้ว ขอบอกตรงๆ ว่า เกณฑ์แค่นี้ไม่เพียงพอสำหรับโควิด-19 ครับ

อดีตที่ผ่านมา ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งการติดเชื้อกว่าหลายล้านคน ตายไปกว่าหลายหมื่นคน เกิดขึ้นเพราะเหตุใด?

ควรใช้เป็นบทเรียน และต้องไม่ทำให้เกิดความทุพลภาพจำนวนมากในอนาคตจากทัศนคติ ความเชื่อ ความงมงายในการมองโควิดว่า “ธรรมดา กระจอก เอาอยู่” เลยนะครับ

โรคประจำถิ่น

มองโควิดเป็นข้าศึก!

ควรมองโควิดว่าเป็นข้าศึก หากกำจัดมันออกไปไม่ได้จากสังคม ก็ต้องทำให้คนของเรารู้จักป้องกันตัวในระยะยาว ลงทุนศึกษาและติดตามองค์ความรู้เกี่ยวกับ Long COVID ให้ถ้วนถี่และทันสมัย เพื่อนำมาใช้ปรับแผนการรับมือ จัดระบบการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพคนที่จะได้รับผลกระทบ รวมถึงสื่อสารสาธารณะให้เข้าใจความปกติใหม่ ที่ยังไม่สามารถเหมือนเดิมหมดจรดแบบในอดีต

ลดละเลี่ยงการประชาสัมพันธ์ที่จะทำให้คนมองกงจักรเป็นดอกบัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK