COVID-19

เทียบชัด ๆ ความรุนแรงโควิด-19 ทั้ง 3 สายพันธุ์ที่ระบาดในไทย

“หมอขวัญชัย” เปรียบเทียบความรุนแรงโควิด-19 ที่ระบาดในไทย ระหว่าง อัลฟา เดลตาและโอไมครอน พบโอไมครอนรุนแรงน้อยที่สุด

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เรื่อง Update ความรุนแรงของโควิดจากสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ระบาดในประเทศไทย (ถึง 6 มีนาคม 2565) ดังนี้

ความรุนแรงโควิด-19

รูปที่ 1 แสดงการระบาดของโควิดในประเทศไทยที่แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ

1. การระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟา ระยะประมาณ 2 เดือนกว่าตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 จนถึง 11 มิถุนายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรวม 160,965 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 1,308 ราย

2. การระบาดของเชื้อเดลตา ระยะประมาณ 6 เดือนตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อรวม 2,410,354 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 20,296 ราย

3. การระบาดของโอไมครอน ระยะประมาณ 2 เดือนเศษตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อรวม 1,338,777 ราย มีผู้เสียชีวิตรวม 1,540 ราย

ผู้ติดเชื้อ

เทียบความรุนแรงโควิด-19 ของการระบาดทั้ง 3 ระยะ 

รูปที่ 2 แสดงความรุนแรงของการระบาดทั้ง 3 ระยะ โดยใช้ 3 ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ

1. อัตราส่วนผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จะเห็นว่าในช่วงที่อัลฟาและเดลตาระบาด มีอัตราส่วนผู้ป่วยหนักใกล้เคียงกันคือเกิน 3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาทั้งหมด แต่ช่วงที่โอไมครอนระบาด มีอัตราส่วนผู้ป่วยหนักเพียง 0.73% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าช่วงอื่นเกิน 4 เท่า

2. จำนวนผู้เสียชีวิตเฉลี่ยรายวัน จะเห็นว่าในช่วงที่เดลตาระบาด มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 100 รายต่อวัน แต่ช่วงที่อัลฟาและโอไมครอนระบาด มีผู้เสียชีวิตใกล้เคียงกันคือราว 20 รายต่อวันเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดลตาระบาดประมาณ 5 เท่า (ในระยะ 1 เดือนหลังซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนสูงมาก มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40 รายต่อวัน แต่อัตราการป่วยตายยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก)

ผู้ติดเชื้อ ตาราง

3. อัตราการป่วยตาย จะเห็นว่าในช่วงที่อัลฟาและเดลตาระบาด มีอัตราการป่วยตายสูงใกล้เคียงกันคือเกิน 0.8% แต่ช่วงที่โอไมครอนระบาด มีอัตราการป่วยตายเพียง 0.12% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าช่วงที่อัลฟาและเดลตาระบาดเกือบ 7 เท่า

จะเห็นว่าข้อมูลจากสถานการณ์จริงของประเทศไทย ยังสอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่พบว่าโอไมครอนก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม รวมทั้งเข็มกระตุ้นให้มากและเร็วที่สุด ร่วมกับการป้องกันการติดเชื้อส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด ก็ยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะแม้จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเด็ดขาด แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคที่เกิดจากโอไมครอนลงได้

หมายเหตุ

1. ข้อมูลชุดนี้ รวมจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่ PCR และ ATK เป็นบวก โดยในประเทศไทยเริ่มมีการตรวจ ATK ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา

2. การแบ่งระยะของการระบาดเป็นการคาดประมาณเท่านั้น อาจไม่ตรงเป๊ะเพราะอาจมีการเหลื่อมเวลาบ้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo