COVID-19

‘รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก’ (OPD) คืออะไร ติดเชื้อต้องทำอย่างไร เช็คที่นี่

‘รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก’ (OPD) คืออะไร แตกต่างจากากรักษาแบบเดิมอย่างไร ผู้ติดเชื้อต้องทำอย่างไร 

กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถรักษาแบบ ผู้ป่วยนอก (Outpatient Department: OPD) ได้ ตามนโยบาย OPD-HI First หรือ ‘เจอ แจก จบ’  ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา

LINE ALBUM Covid atk สถานที่ต่างๆ ๒๒๐๓๐๒ 0

การ ‘รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก’ แตกต่างจากการรักษาแบบเดิมอย่างไร?

การรักษาแบบ ’ผู้ป่วยนอก’ และ ‘ผู้ป่วยใน’

การรักษาแบบ ‘ผู้ป่วยนอก’ (Outpatient) คือ การที่เราเจ็บป่วยด้วยอาการต่างๆ อาทิ ปวดหัว ปวอดท้อง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ฯลฯ เมื่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำประวัติ และเช็คข้อมูลเบื้องต้น เช่น อุณหภูมิของร่างกาย โรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา

ก่อนจะเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย หากอาการไม่รุนแรง แพทย์จะจ่ายยา พร้อมคำแนะนำ และให้กลับไปดูอาการที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นจะนัดกลับมาตรวจซ้ำ  แต่หากอาการไม่สู้ดี แพทย์จะพิจารณาให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล เป็น ‘ผู้ป่วยใน’ (Inpatient) แม้จะเป็นโรคเดียวกัน แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยในทั้งหมด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของโรค

ไทม์ไลน์ ‘การรักษาผู้ป่วยโควิด’

เช่นเดียว กับสำหรับโรคโควิด-19 ในช่วงแรก ซึ่งเป็นเป็น โรคติดต่ออันตราย ทั้งในทางการแพทย์และตามกฎหมาย (พ.ร.บ.โรคติดต่อ) การดูแลผู้ติดเชื้อจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. การรักษา เป็นการรักษาตามอาการเป็นหลัก ในบางกรณีแพทย์จะพิจาณาจ่ายยาต้านไวรัส และ 2. การแยกกักตัว (Isolation) จนพ้นระยะแพร่เชื้อ เพื่อควบคุมการระบาด

ผู้ติดเชื้อทุกรายจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นต้องหาสถานที่รองรับ จึงเกิดโรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล และศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) ผู้ป่วยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นจนโรงพยาบาลไม่สามารถรับไหว สำหรับอาการไม่มากก็จะเน้น การรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยมีบุคลากรทางการแพทย์คอยติดตามอาการ

รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก

การรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก

การระบาดของสายพันธุ์ไอไมครอน ที่แม้จะแพร่กระจายเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก โดยกระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่า 90 % ของผู้ติดเชื้อ จะมีอาการน้อยมาก ลักษณะเหมือนเป็นไข้หวัด หรือ บางรายไม่มีอาการเลย ดังนั้นจึงปรับวิธีการ เป็นการรักษาโควิดเป็นแบบผู้ป่วยนอก (OPD)

โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด ว่าต้องการจัดการให้โควิด -19 เป็นโรคประจำถิ่น เพราะความรุนแรงของโรคลดลง โรคไม่ได้มีภาวะอันตรายมาก ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดบริการเพิ่มเติมการรักษาผู้ติดเชื้อแบบผู้ป่วยนอก หรือ ‘เจอ แจก จบ’

การรักษาผู้ป่วยแบบ OPD เริ่มจาก ‘ผู้สงสัยติดเชื้อ’ (Suspected Cases) ตรวจ ATK ด้วยตนเอง เมื่อผลตรวจเป็นบวกจะถือว่าเป็น ‘ผู้ติดเชื้อเข้าข่าย’ (Probable Case) จากนั้นโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือเข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่โรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการและปัจจัยเสี่ยง หากอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Outpatient with Self Isolation) ได้ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงจะเข้าระบบ HI/CI หรือ Hospitel

ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคน

ผู้ติดเชื้อในระบบ OPD จะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ตามความรนุแรง โดยผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย จะไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะส่วนมากหายได้เอง แพทย์อาจจ่ายยาฟ้าทะลายโจรให้

ผู้ป่วยที่มีอาการแต่ไม่รุนแรง และไม่มีปัจจัยเสี่ยง คือ สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรงประจำตัวเรื้อรัง อาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเริ่มยาเร็วที่สุด หากตรวจพบเชื้อเมื่อมีอาการมาแล้วเกิน 5 วัน อาจไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง จะได้รับยาต้านไวรัส 1 ชนิด เช่น ฟาวิพิราเวียร์ เรมเดซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์

เมื่อกลับไปที่บ้านยังต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อซึ่งเป็นระยะแพร่เชื้อ แพทย์จะโทรติดตามอาการ 1 ครั้งที่ 48 ชั่วโมง ถ้าอาการไม่แย่ลงจะถือว่าได้รับการรักษาครบ แต่หากมีอาการมากขึ้นสามารถติดต่อหน่วยบริการเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้

ซึ่งจะแตกต่างจากระบบ HI คือ จะไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และไม่ได้รับอาหาร 3 มื้อ

รักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก

ข้อดี-ข้อเสีย ของการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก

ข้อดี คือ ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตที่บ้านได้ตามปกติ คล้ายกับระบบ HI ซึ่งเป็นไปตามแนวคิด ‘อยู่ร่วมกับโควิด’ เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการทุกวัน  ทั้งยังช่วยลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข ลดภาระของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์

ข้อเสีย คือ ผู้ป่วยอาจไม่มั่นใจการประเมินอาการของตนเอง และบางรายอาจมีอาการแย่ลงในภายหลัง ซึ่งต้องมีระบบส่งต่อที่ดี บ้านของผู้ป่วยอาจไม่มีความพร้อมในการแยกกักตัวจากสมาชิกคนอื่น และผู้ป่วยบางรายอาจเข้าไปในชุมชนจนเกิดการแพร่เชื้อต่อ

ผู้ติดเชื้อต้องดูแลตนเองอย่างไร

ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนมักมีอาการเจ็บคอ ไข้ ไอ ซึ่งรักษาตามอาการ โดยรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ดื่มน้ำอุ่น และพักผ่อนให้เพียงพอ

ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงมักมีอาการดีขึ้นภายใน 5-7 วัน แต่ควรแยกตัวจนครบ 10 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ เมื่อครบแล้วถือว่า ‘หายป่วย’ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นวิธี ATK หรือ RT-PCR เพราะอาจตรวจพบซากเชื้อได้ภายใน 3 เดือน

ผู้ป่วย ควรสังเกตอาการตนเอง เมื่อพบอาการแย่ลง คือ มีไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส  หายใจหอบเหนื่อย  วัดค่าออกซิเจนปลายนิ้วได้น้อยกว่า 94% หรือไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้  ส่วนผู้ป่วยเด็ก คือ หายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ หากมีอาการฉุกเฉิน เช่น หมดสติ ให้โทร. 1669

และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ควรใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือรถจากโรงพยาบาล ไม่ควรใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง และเปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo