COVID-19

‘หมอจุฬา’ เตือนภาวะ ‘ลองโควิด’ อาการผิดปกติของระบบร่างกาย ปัญหาระยะยาวที่ต้องระวัง

“หมอจุฬา” เตือนภาวะ “ลองโควิด” อาการผิดปกติของระบบต่าง ๆ ของร่างกายในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติติดเชื้อโควิด ชี้เป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องระวัง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า Long COVID…คือ ปัญหาระยะยาวที่จำเป็นต้องระวัง คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรือาการรุนแรง เมื่อรักษาหายแล้ว ก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้ราว 20-40%

ลองโควิด

ผู้ใหญ่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้มากกว่าเด็ก

ผู้หญิงเสี่ยงกว่าผู้ชาย

แต่เหนืออื่นใด ทุกเพศ ทุกวัย มีโอกาสเป็น Long COVID ได้

ด้วยความรู้ทางการแพทย์ขณะนี้ เชื่อว่าภาวะผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกายของคนที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้น

สาเหตุหลักมาจาก 2 กลไกที่เป็นไปได้ คือ

  1. ติดเชื้อแล้วทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อต้านตนเอง หรือเรียกว่า Auto-antibody
  2. ติดเชื้อแล้วทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรังต่อเนื่องในระบบต่างๆ อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้อวัยวะนั้นทำงานผิดปกติ
ลองโควิด
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

อาการของระบบทางเดินหายใจ

น้ำหนักของกลไกที่สองนั้นดูมีงานวิจัยจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ชี้ให้เห็นเรื่องนี้ และเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท ทำให้มีปัญหาเรื่องความคิดความจำถดถอย ไม่มีสมาธิ รวมถึงภาวะทางจิตเวช อาทิ เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยหอบ รวมถึงปัญหาทางเดินอาหาร กระดูกและข้อ ผิวหนัง ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ที่มีงานวิจัยชัดเจนคือ การทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อหลายเท่า แม้จะติดเชื้อผ่านมาแล้วนานถึง 12 เดือนก็ตาม ทั้งเรื่องหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดต่าง ๆ จนทำให้เสียชีวิตได้

ในเด็กนั้น US CDC ก็ระบุ เตือนให้ระวังเช่นกัน เพราะเด็กที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนนั้น จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งถือเป็นโรคที่เป็นแล้วเรื้อรังตลอดชีวิต

ลองโควิด

ต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งเครัด

ความรู้ข้างต้นเป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือนให้พวกเราทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตัวอย่างเคร่งเครัด ตั้งเป้าอย่าให้ตัวเราและครอบครัวติดเชื้อ เพื่อจะได้เลี่ยงภาวะผิดปกติของร่างกายระยะยาวหรือ Long COVID

หากเกิดขึ้น จะส่งผลทำให้สมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันเสื่อมถอยลง รวมถึงสมรรถนะในการทำงานด้วย เป็นผลกระทบทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม

ประเทศอื่นที่ระบาดหนัก ติดเชื้อกันมาก ล้วนกำลังเผชิญปัญหา Long COVID และมีการจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนและภาควิชาการ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐดำเนินการสร้างระบบบริการดูแลรักษา รวมถึงให้คำปรึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้

ไทยเรา…รัฐบาล หน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย รวมถึงภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ก็จำเป็นต้องเตรียมแผนเรื่องนี้เช่นกัน ควรทำอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้

…ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุดครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK