COVID-19

‘โควิด’ ไม่ใช่ ‘ไข้หวัดใหญ่’ เสี่ยง ‘ปัญหาจิตเวช’ มากกว่า 1.43 เท่า

ผลการศึกษาโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อ ‘ปัญหาทางจิตเวช’ ทั้งซึมเศร้า เครียด และความจำ มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 1.43 เท่า

วันนี้ (18 ก.พ.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” ระบุว่า ทะลุ 419 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,933,842 คน ตายเพิ่ม 10,436 คน รวมแล้วติดไปรวม 419,909,413 คน เสียชีวิตรวม 5,879,775 คน

ปัญหาจิตเวช

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน รัสเซีย บราซิล เกาหลีใต้ และตุรกี จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 97.89 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.03

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 53.12 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 36.16 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

ปัญหาจิตเวช
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เสี่ยงปัญหาด้านความจำและปัญหาจิตเวช

Xie Y และคณะ ทำการศึกษาในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ 153,848 คน ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน และเปรียบเทียบกับประชากรที่ไม่เคยติดเชื้อ เพื่อศึกษาว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อนจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาทางจิตเวชมากน้อยเพียงใดในช่วง 12 เดือนถัดมา เผยแพร่งานวิจัยในวารสารการแพทย์ระดับโลก British Medical Journal

สาระที่สำคัญมากมีดังนี้

1.การติดเชื้อมาก่อนจะทำให้เสี่ยงต่อโรคจิตเวชมากขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อถึง 39%, เสี่ยงต่อภาวะเครียดมากขึ้น 35%, เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาด้านความจำมากขึ้น 80% และมีปัญหาด้านการนอนหลับมากขึ้น 41%

2.หากเปรียบเทียบกับคนที่เป็นไข้หวัดใหญ่ จะพบว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อปัญหาจิตเวชต่างๆ ตามมา มากกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 1.43 เท่า

ปัญหาจิตเวช

ผลการศึกษาข้างต้น ตอกย้ำให้เราทราบว่า โควิดไม่ใช่หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะเป็นปัญหาระยะยาวในลักษณะภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายระบบของร่างกาย ทั้งสมอง หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินอาหาร ผิวหนัง ต่อมไร้ท่อ และปัญหาทางด้านจิตเวช ฯลฯ

ปัญหา Long COVID ที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลต่อสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และชีวิตการทำงาน โดยอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น และภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด สถานการณ์ไทยเรายังระบาดรุนแรงต่อเนื่อง จึงต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo