COVID-19

ระวัง! ‘โอไมครอน BA.2’ ทำเด็กป่วยเข้าโรงพยาบาลมากกว่าสายพันธุ์อื่น

“โอไมครอน BA.2” ที่กลายพันธุ์อีกต่อหนึ่ง จากไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “ไอไมครอน” กำลังเป็นที่จับตากันทั่วโลก ถึงความรวดเร็วในการระบาด และความรุนแรงของโรค ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับ โอไมครอน และตัวกลายพันธุ์ BA.2

“หมอธีระ” บอกว่า การติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน แม้ในผู้ใหญ่จะพบว่ามีความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลงราว 50% และความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลงราว 60% เมื่อเทียบกับการระบาดของสายพันธุ์เดลตา แต่กลับพบว่า “เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี” มีอัตราการป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่แตกต่างจากระลอกเดลตา

โอไมครอน BA.2

เรื่องนี้จึงสำคัญมาก และเน้นย้ำให้ผู้ปกครองดูแลลูกหลานให้ดี ส่วน โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2 ที่ระบาดต่อจากสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ที่กำลังครองโลกอยู่ในขณะนี้ มีอัตราการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า BA.1

ที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ยของระยะเวลาตั้งแต่คนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ จนถึงคนที่รับเชื้อเริ่มมีอาการ (serial interval) ของเชื้อสายพันธุ์ BA.2 นั้นสั้นกว่า BA.1 โดย BA.2 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.27 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น 3.09-3.46 วัน) และ BA.1 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.72 วัน (ช่วงความเชื่อมั่น: 3.62-3.80 วัน)

สรุปคือ เชื้อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น หากคนแพร่เชื้อเริ่มมีอาการ แล้วแพร่ให้คนอื่น ๆ โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่รับเชื้อมามักจะเริ่มมีอาการหลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน แต่ระยะเวลาก็อาจยาวไปได้ถึง 9 วัน

ข้อมูลนี้ ถือเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เวลามีประวัติไปสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 สามารถใช้เฝ้าระวัง และสังเกตอาการตนเองไปนานราว 10 วันก็จะทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น

โอไมครอน BA.2

โอไมครอน BA.2 เป็นสายพันธุ์ล่องหน

BA.2 เป็นเชื้อที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์มาตรฐาน BA.1 โดยนักวิจัยได้พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 7 เคสในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา

สาเหตุที่ต้องเรียกสายพันธุ์นี้ว่า โอไมครอนสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Omicron) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกการตรวจหาเชื้อโควิด RT-PCR ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ แม้จะตรวจโควิดแล้วพบว่าติดเชื้อ แต่ก็ตรวจสอบไม่ได้ว่า เชื้อตัวนี้ เป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

แตกต่างจากโอไมครอน สายพันธุ์หลัก ที่มีลักษณะเด่นของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโปรตีนหนามสไปค์ S-gene หรือ “S-gene dropout” ที่ปกติแล้วจะสามารถตรวจจับได้ด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันได้ว่า ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจริง ๆ

แต่สำหรับ BA.2 แล้ว ส่วนสำคัญนี้กลับหายไป หรือตรวจไม่พบยีนหนามอย่างที่ควรจะเป็น และแม้จะใช้การตรวจโควิดแบบ RT-PCR ก็ตาม ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ทำให้ผู้ตรวจอาจวินิจฉัยได้ว่า การติดเชื้อในครั้งนี้ อาจเป็นสายพันธุ์เบตา หรือเดลตาแทน ซึ่งก็เท่ากับว่าโอไมครอน BA.2 พยายามจะปลอมตัวเป็นสายพันธุ์อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่

โอไมครอน BA.2

BA.2 กระจายตัวเร็วกว่าสายพันธุ์มาตรฐาน BA.1

อีกแนวโน้มที่สำคัญคือ BA.2 อาจมีการกระจายตัว และการติดเชื้อได้ไวกว่า BA.1  เห็นได้จากในหลาย ๆ ประเทศ ที่พบว่าขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด สายพันธ์โอไมครอน BA.1 เริ่มลดน้อยลง ในขณะที่ BA.2 กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี เหล่านักวิจัย กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปหากจะระบุให้แน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอไมครอนนี้ จะแพร่กระจายในลักษณะเดียวกันกับโอไมครอนสายพันธุ์มาตรฐานหรือไม่ บอกได้เพียงว่า มีความแตกต่างทางพันธุกรรมในบางจุด ที่อาจส่งผลต่อวิธีการทำงาน หรือวิธีแพร่เชื้อ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ BA.1 และ BA.2 อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากเมื่อไหร่ที่ BA.2 วิ่งได้ไวกว่า BA.1 ก็จะยิ่งเสริมให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ บอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และแม้ว่าในตอนนี้จะยังนับ BA.2 ว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน แต่ด้วยความแตกต่างที่มีมากอย่างเห็นได้ชัด ในอนาคต BA.2 อาจกลายเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่” ก็ได้ หากพบว่าศักยภาพในการแพร่กระจายและความรุนแรงของเชื้อมีมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo