COVID-19

รู้ไหม ‘โอไมครอน BA.2’ สายพันธุ์ใหม่ รุนแรงระดับไหน

แม้ว่าการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำท่าว่าจะจบลงหลายครั้ง แต่ก็มักจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ตามมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่เชื้อโรคกลายพันธุ์ ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ตามมา ล่าสุด กับ “โอไมครอน” ที่กลายพันธุ์มาแล้ว ยังกลายพันธุ์ต่อเป็น “โอไมครอน BA.2” ที่ทำให้ผู้คนพากันกังวลว่า จะทำให้สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหน

โอไมครอน” เป็นเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ที่พบครั้งแรกในประเทศบอตสวานา ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วทั้งโลก  โดยโควิดสายพันธุ์นี้ แม้ส่วนใหญ่ จะไม่ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แต่ก็แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เมื่อมีการค้นพบ “โอไมครอนBA.2” สายพันธุ์ใหม่ ที่กลายพันธุ์มาจากโอไมครอน  และถูกเรียกขานว่าเป็น “สายพันธุ์ล่องหน” จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาด รุนแรงเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด

โอไมครอน BA.2

ทำไม โอไมครอน BA.2 ถึงเป็นสายพันธุ์ล่องหน

เชื้อโอไมครอน BA.2 เป็นเชื้อที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์มาตฐาน (BA.1) โดยนักวิจัยได้พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 7 เคสในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย และแคนาดา

สาเหตุที่ต้องเรียกสายพันธุ์นี้ว่า โอไมครอนสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Omicron) เพราะเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกการตรวจหาเชื้อโควิด RT-PCR ได้ หรือพูดง่าย ๆ คือ แม้จะตรวจโควิดแล้วพบว่าติดเชื้อ แต่ก็ตรวจสอบไม่ได้ว่า เชื้อตัวนี้ เป็นสายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่

แตกต่างจากโอไมครอน สายพันธุ์หลัก ที่มีลักษณะเด่นของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโปรตีนหนามสไปค์ S-gene หรือ “S-gene dropout” ที่ปกติแล้วจะสามารถตรวจจับได้ด้วย RT-PCR เพื่อยืนยันได้ว่า ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจริง ๆ

แต่สำหรับ BA.2 แล้ว ส่วนสำคัญนี้กลับหายไป หรือตรวจไม่พบยีนหนามอย่างที่ควรจะเป็น และแม้จะใช้การตรวจโควิดแบบ RT-PCR ก็ตาม ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ ทำให้ผู้ตรวจอาจวินิจฉัยได้ว่า การติดเชื้อในครั้งนี้ อาจเป็นสายพันธุ์เบตา หรือเดลตาแทน ซึ่งก็เท่ากับว่าโอไมครอน BA.2 พยายามจะปลอมตัวเป็นสายพันธุ์อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่

โอไมครอน BA.2

BA.2 กระจายตัวเร็วกว่าสายพันธุ์มาตรฐาน BA.1

อีกแนวโน้มที่สำคัญคือ BA.2 อาจมีการกระจายตัว และการติดเชื้อได้ไวกว่า BA.1  เห็นได้จากในหลาย ๆ ประเทศ ที่พบว่าขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด สายพันธ์โอไมครอน BA.1 เริ่มลดน้อยลง ในขณะที่ BA.2 กลับเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ดี เหล่านักวิจัย กล่าวว่า ยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปหากจะระบุให้แน่ชัดว่าสายพันธุ์ย่อยใหม่ของโอไมครอนนี้ จะแพร่กระจายในลักษณะเดียวกันกับโอไมครอนสายพันธุ์มาตรฐานหรือไม่ บอกได้เพียงว่า มีความแตกต่างทางพันธุกรรมในบางจุด ที่อาจส่งผลต่อวิธีการทำงาน หรือวิธีแพร่เชื้อ

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ BA.1 และ BA.2 อาจไม่แตกต่างกันมากนัก แต่หากเมื่อไหร่ที่ BA.2 วิ่งได้ไวกว่า BA.1 ก็จะยิ่งเสริมให้นักวิจัยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ง่ายขึ้น

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ บอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าโอไมครอนสายพันธุ์ย่อยนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และแม้ว่าในตอนนี้จะยังนับ BA.2 ว่าเป็นสายพันธุ์โอไมครอน แต่ด้วยความแตกต่างที่มีมากอย่างเห็นได้ชัด ในอนาคต BA.2 อาจกลายเป็น “สายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่” ก็ได้ หากพบว่าศักยภาพในการแพร่กระจายและความรุนแรงของเชื้อมีมากขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo