COVID-19

เมื่อจำเป็นต้องขึ้นรถโดยสารขนส่งสาธารณะ อย่าลืม 8 ข้อปฏิบัติสกัดโควิด

กรมอนามัย เปิด 8 ข้อปฏิบัติ เมื่อต้องใช้บริการรถโดยสารขนส่งสาธารณะ หลังผลโพลหลังปีใหม่ พบมาตรการ งดโดยสารรถสาธารณะ ยังทำได้ยาก

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลจากการสำรวจอนามัยโพล ในช่วงมกราคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า มาตรการที่ประชาชนมากกว่า 7 ใน 10 คน คิดว่าสามารถปฏิบัติตามได้ดี คือ การงดเข้าสถานที่เสี่ยงทุกประเภท 76.2% และงดร่วมกิจกรรมรวมกลุ่ม 71.7%

ขนส่งสาธารณะ

ส่วนมาตรการที่ยังทำได้ยาก คือ งดโดยสารขนส่ง สาธารณะทุกประเภท 43.9% และงดไปต่างประเทศ 48% โดยในส่วนของขนส่งสาธารณะ อาจเป็นความจำเป็นในการทำกิจกรรมเหล่านี้

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่จำเป็นต้องใช้บริการขนส่งโดยสารสาธารณะ มั่นใจต่อการรับบริการ ที่จะลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะจึงต้องสร้างความปลอดภัยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ส่วนผู้ใช้บริการก็ต้องป้องกันตนเองขึ้นสูงสุดด้วยเช่นเดียวกัน

ด้าน นางนภพรรณ นันทพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กิจการขนส่งโดยสารสาธารณะ เป็นกิจกรรมที่ประชาชนหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะเลี่ยงการใช้บริการ

สำหรับปัจจัยเสี่ยง คือ ผิวสัมผัสร่วม เช่น ราวจับลูกบิด โต๊ะ เก้าอี้ ความแออัดในเวลาเร่งด่วน ระบบอากาศภายในรถ และระยะเวลาที่ใช้บริการ

มาตรการ COVID Free Setting เมื่อใช้บริกาขนส่งสาธารณะ

1. หากผู้โดยสาร มีความเสี่ยง เช่น ป่วยเป็นไข้ แนะนำให้งดหรือเลี่ยงเดินทาง

2. ต้องมีอุปกรณ์ส่วนตัว เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์

3. เว้นระยะห่าง

4. เลี่ยง งด คุยกัน

5. ผู้มีโรคประจำตัว ต้องระมัดระวังตนเอง

6. ส่วนพนักงานที่ให้บริการ หากมีอาการป่วยให้เลี่ยงปฏิบัติงาน และเมื่อไปทำงานต้องประเมินความเสี่ยงตนเองอยู่เสมอ

7. บริเวณจุดสัมผัสร่วม ต้องทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการ

8. ต้องได้รับวัคซีน ตามที่ราชการกำหนด ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ

สุวรรณชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

สำหรับการจัดการสถานีขนส่งประเภทราง และรถปรับอากาศที่ให้บริการทางไกล ต้องมีการเปิดระบายอากาศ เช่น รถไฟฟ้า เมื่อถึงปลายทางให้เปิดระบายอากาศ รวมถึงรถตู้ เมื่อพักรถ ควรมีการระบายอากาศ ทำความสะอาด

ส่วนรถโดยสาร ปรับอากาศทางไกล ให้แวะพัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อระบายอากาศ มีการทำความสะอาดภายในรถบ่อยครั้ง รถทางไกลที่มีห้องน้ำ ต้องดูแลทำความสะอาดเป็นระยะ งดเลี่ยงการเสิร์ฟอาหาร อาจจะเปลี่ยนเป็นแวะจุดพักให้ผู้โดยสารทานอาหาร

ส่วนใหญ่ รถทางไกลจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องนอน หมอน ผ้าห่ม จึงต้องมีการเปลี่ยนปลอกหมอน นำเครื่องนอน ซักทุกครั้งหลังให้บริการ รวบรวมขยะใส่ถุง ปิดให้มิดชิด และนำไปกำจัดอย่างถูกต้องด้วย

นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำรวจยังพบอีกว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่า สถานการณ์จะรุนแรงกว่าเดิม โดยในกลุ่มนี้ 64% เห็นว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น, 16% เห็นว่าจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตมากขึ้น เช่น ต้อง Work From Home เรียน Online และกว่า 13% มีผลกระทบคือ รายได้ลดลง ตกงาน

ขณะที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามโดยรวม 3 ใน 10 คน รู้สึกว่าสถานการณ์หลังปีใหม่จะรุนแรงน้อยกว่าเดิม เนื่องมาจากการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว และในกลุ่มนี้เกือบ 35% เชื่อมั่นในการปฏิบัติตนเองเพื่อป้องกันต่อเนื่อง เช่น การสวมหน้ากาก หรือการล้างมือ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo