COVID-19

เทียบชัด!! ความรุนแรงโควิดทุกสายพันธุ์ในไทย ตอกย้ำ อย่ากลัวโอไมครอนเกินไป

“หมอขวัญชัย” เทียบให้เห็นชัด ความรุนแรงโควิดแต่ละสายพันธุ์ที่ระบาดในไทย สะท้อน โอไมครอน รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น จึงไม่ควรกลัวสายพันธุ์โอไมครอนมากจนเกินไป

ศ.นพ.ขวัญชัย ศุภรัตน์ภิญโญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Khuanchai Supparatpinyo เปิดข้อมูลเปรียบเทียบการระบาดของโควิดจากเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ ในประเทศไทย ดังนี้

ความรุนแรงโควิด

วันนี้ชวนมาดูข้อมูลการระบาดของโควิดในประเทศไทย (real world experience) ในระยะต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบความรุนแรงโควิด ของการระบาดจากเชื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ

รูปที่ 1 แสดงการระบาดของโควิดในประเทศไทย โดยแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

1. ระยะตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 จนถึง 11 มิถุนายน 2564 เป็นการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟาซึ่งนำเข้ามาจากประเทศอังกฤษและกระจายไปทั่วประเทศผ่านทางคลัสเตอร์สถานบันเทิง

2. ระยะตั้งแต่ 12 มิถุนายน 2564 จนถึง 31 ธันวาคม 2564 เป็นการระบาดของเชื้อเดลตาซึ่งนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชาและกระจายไปทั่วประเทศผ่านทางคลัสเตอร์โรงงานและตลาดสดที่มีแรงงานต่างด้าว

3. ระยะตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จนถึงปัจจุบัน เป็นการระบาดของโอไมครอนซึ่งนำเข้ามาโดยนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านระบบ Test&Go และกระจายไปทั่วประเทศ ผ่านทางคลัสเตอร์ร้านอาหารและสถานบันเทิงในช่วงเทศกาลปีใหม่

ผู้ติดเชื้อแต่ละสายพันธุ์

จะเห็นว่าประเทศไทยประสบปัญหาหนักหน่วงที่สุดจากการระบาดของสายพันธุ์เดลตาตั้งแต่กลางปีจนถึงปลายปี 2564 โดยมีผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่าช่วงอื่นๆอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลในตารางแสดงความรุนแรงของการระบาดทั้ง 3 ระยะ

1. ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์อัลฟา มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดคือ 160,965 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตถึง 1,308 ราย โดยมีอัตราการป่วยตาย 0.81%

2. ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ 2,034,400 ราย และมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดด้วยคือ 20,296 ราย โดยมีอัตราการป่วยตายสูงถึง 1.0%

3. ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน (ซึ่งขณะนี้ยังไม่สิ้นสุด) มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากรองจากช่วงเดลตาคือ 242,288 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดคือ 533 ราย (จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าเดลตาประมาณ 38 เท่า และต่ำกว่าอัลฟาประมาณ 2.4 เท่า)

นอกจากนี้ ยังมีอัตราการป่วยตายต่ำที่สุดเช่นกันคือ 0.22% เท่านั้น (อัตราการป่วยตายต่ำกว่าเดลต้าประมาณ 4.5 เท่า และต่ำกว่าอัลฟ่าประมาณ 3.7 เท่า)

2 2

จะเห็นว่า ข้อมูลจริงของประเทศไทยสอดคล้องกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยสนับสนุนว่า โอไมครอนก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่ควรกลัวสายพันธุ์โอไมครอนมากจนเกินไป

แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนและการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเข้มงวดก็ยังถือว่ามีความจำเป็น เพราะนอกจากจะช่วยลดปริมาณของเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกายและลดความรุนแรงของโรคแล้ว ยังช่วยชะลอการระบาดไม่ให้ส่งผลกระทบต่อศักยภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยของประเทศมากเกินไป

หมายเหตุ

1. ข้อมูลชุดนี้ รวมจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งที่ PCR และ ATK เป็นบวก โดยในประเทศไทยเริ่มมีการตรวจ ATK ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา

2. การแบ่งระยะของการระบาดเป็นการคาดประมาณเท่านั้น อาจไม่ตรงเป๊ะเพราะอาจมีการเหลื่อมเวลาบ้าง

3. ไม่นับรวมการระบาดช่วงตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 1 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม เนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันน้อยและกระจัดกระจายเป็นช่วง ๆ หลายระยะ ไม่สามารถเขียนเป็นกราฟแสดงการระบาดเพื่อเปรียบเทียบกับ 3 ระยะนี้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo