COVID-19

‘หมอยง’ เชื่อ ‘โควิด’ จะลดความรุนแรงลงอีก พร้อมแนะกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย!

“หมอยง” เชื่อความรุนแรงของ “โควิด” จะลดลงอีก หลังจากมียอดติดเชื้อจำนวนมาก และเกิดภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ แนะเน้นลดผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า “โควิด-19 ความรุนแรงของโรค โดยดูค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วย” มีเนื้อหาดังนี้

หมอยง 30165

โรคโควิด-19 ในปีแรกที่มีการระบาดเริ่มจากประเทศจีน อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3 รายในผู้ป่วยร้อยราย และต่อมาเมื่อเกิดการระบาดในยุโรป อัตราการเสียชีวิตก็ไม่ได้น้อยกว่านี้ และก็เช่นเดียวกันการเสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาในระยะแรก ก็มีอัตราการเสียชีวิตที่ค่อนข้างสูง

ในระยะแรกยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ลดอัตราการเสียชีวิต ทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตเริ่มลดลง หลังจากมีวัคซีนที่ใช้ ถึงกระนั้นก็ตามในทางตะวันตกก็ยังมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และมีอัตราสูงกว่าประเทศไทยเป็นเท่าตัว

272828431 7118001068242449 2659321444130710981 n

สำหรับประเทศไทย ในปีแรกการดูแลค่อนข้างดีมาก มีผู้เสียชีวิตในอัตราที่ต่ำ และเริ่มมาสูงขึ้นตั้งแต่มีการระบาดของสายพันธุ์แอลฟา และสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ค่าอัตราเฉลี่ยการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ หนึ่งในร้อยรายของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัย แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศทางตะวันตกและสหรัฐอเมริกามาก

เมื่อมีการระบาดสายพันธุ์โอไมครอน จะเห็นว่าอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่รายงาน มีอัตราที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก ยุโรป และอเมริกา ทำให้อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกโดยมีค่าเฉลี่ยใน 7 วันที่ผ่านมานี้ ประมาณ 2.6 รายในผู้ป่วย 1,000 ราย เมื่อเปรียบเทียบของประเทศไทย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 2.3 รายในผู้ป่วย 1,000 ราย (ดังแสดงในรูป)

โดยมากจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน ในภาพรวมจึงเห็นว่าความรุนแรงของโรคลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าความรุนแรงของโรคจะลดลงอีก หลังจากที่มีการติดเชื้อจำนวนมากแล้ว และเกิดภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ร่วมกับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากวัคซีน และการปรับตัวของไวรัส ที่จะทำให้ความรุนแรงน้อยลงอีก

273001515 7118001028242453 1058287516239488031 n

ในที่สุด เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน หรือ มีการติดเชื้อ สร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทางตะวันตกเอง ขณะนี้ จึงเน้นการให้วัคซีนเข็มกระตุ้น ในกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว อายุมากกว่า 60 ปี ปี สตรีตั้งครรภ์ เพราะเป็นกลุ่มที่จะทำให้ มีความรุนแรงและเสียชีวิตได้ ทำให้ในปีนี้วัคซีนที่ผลิตมาจะมีความต้องการน้อยลงอย่างมาก และจะมีปริมาณวัคซีนเหลือเฟือ เกินความต้องการ

กลยุทธ์สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้ถ้าพิจารณาความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มที่ป่วยแล้วมีโอกาสที่จะเข้าโรงพยาบาล นอน ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มเปราะบาง ที่มีโรคประจำตัว อายุมาก หรือกลุ่มเสี่ยงที่เราเรียกว่า 608 การให้วัคซีนเข็มกระตุ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นไปหากลุ่มประชากรดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ความคุ้มค่าของวัคซีนที่ใช้ จึงจะมีค่าสูงสุด ปีที่แล้วเราใช้จ่ายกับค่าวัคซีนไปหลายหมื่นล้านบาท

272870760 7118001031575786 5655149029943825264 n

ในขณะนี้ ทั่วโลกยอมรับแล้วว่าในบุคคลที่แข็งแรงดี ถึงแม้จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค ก็ไม่ได้มาก และจะเกิดภูมิต้านทานเกิดขึ้น แม้กระทั่งในอังกฤษ เดนมาร์ก ก็พร้อมที่จะเปิดประเทศเต็มตัวแล้ว ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ถ้าต่อไป เรามุ่งเน้นลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิต ให้เหลือน้อยที่สุด เช่นหนึ่งในพัน หรือน้อยกว่า ก็น่าจะยอมรับได้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสใช้ชีวิตในวัยเด็ก และได้ไปโรงเรียน การศึกษาเราถดถอยมามากพอแล้ว และเศรษฐกิจสังคมจะได้ดีขึ้นด้วย

ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต 30 มกราคม 2565

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo