ศูนย์จีโนมฯ ตั้งคำถาม โอไมครอน วิวัฒนาการเพื่อปิดเกมการรระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก หลังพบกระตุ้นร่างกายผู้ติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันเดลตา แตกสายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 BA.3
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics จับตาการกลายพันธุ์โอไมครอน จะเป็นตัวปิดเกมการระบาดใหญ่ โควิด-19 ทั่วโลก ทั้งจากการสร้างภูมิต้านทานเดลตา และการเกิดสายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 BA.3 โดยระบุว่า
โอไมครอน มีวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อ Endgame การระบาดของโควิด-19 แบบ Pandemic หรือไม่?
จากข้อมูลล่าสุดมีแนวโน้มจะเป็นไปได้
ข้อมูลจาก Dr. Ridhwaan Suliman นักวิจัยชั้นยอดของประเทศแอฟริกาใต้ ได้นำเสนอกราฟที่น่าสนใจ แสดงให้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้น และลดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 เดือน โดยมีผู้เสียชีวิตต่ำมาก
ในขณะที่ช่วงเวลาการติดเชื้อระลอกแรก (อู่ฮั่น) ระลอกสอง (เบตา) และระลอกสาม (เดลตา) ใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือน และมีผู้เสียชีวิตสูงกว่าหลายเท่าตัว
และจากการที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี เฝ้าติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรนา 2019 มาตลอด 3 ปี โดยล่าสุดได้สุ่มดาวน์โหลด รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.1 BA.2 BA.3 อย่างละ 100 ตัวอย่าง
รวมทั้งรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของชาวต่างชาติจากเอเชียใต้หนึ่งราย ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และติดเชื้อ BA.2 มาวิเคราะห์การกลายพันธุ์แบบแผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการแตกกิ่งก้านสาขาคล้ายต้นไม้ (phylogenetic tree) พบความสัมพันธ์ด้านจีโนมระหว่างโอไมครอนทั้ง 3 สายพันธุ์ มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน
B.1.1 ซึ่งมีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสดั้งเดิม อู่ฮั่น มากกว่าสายพันธุ์ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ฯลฯ
BA.1 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น ประมาณ 60-70 ตำแหน่ง
BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น ประมาณ 70-80 ตำแหน่ง
BA.3 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น ประมาณ 55-65 ตำแหน่ง
ทำให้เห็นแนวโน้มว่าสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ต่างจากอู่ฮั่นไป น้อยกว่า 60 ตำแหน่ง เช่น อัลา เบตา แกมมา เดลตา ฯลฯ
รวมถึงสายพันธุ์ที่เคยพบมากในประเทศไทย อาทิ A.6 จากคลัสเตอร์สนามมวย หรือ B.1.36.16 จากคลัสเตอร์สมุทรสาครและปทุมธานี ได้เข้าสู่หรือกำลังเข้าสู่โหมดของการสูญพันธุ์หรือ Endgame ไม่หวนกลับมา เพราะไม่ฟิตที่จะแข่งขันกับสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ไปข้างหน้าอย่างเช่น โอไมครอน ที่เข้ามาแทนที่ โดยมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นถึง 80-100 ตำแหน่ง
ที่แปลกประหลาดคือ โอไมครอนยังกระตุ้นให้ร่างกายผู้ติดเชื้อสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านสายพันธุ์ เดลตา ที่ครองพื้นที่อยู่เดิมไม่ให้เพิ่มจำนวนกันได้อีกต่อไป
ในส่วนของโอไมครอนเอง นอกจากจะมีสายพันธุ์หลัก BA.1 แล้ว ยังมีสายพันธุ์น้องสาวอุบัติตามกันมาคือ BA.2 และ BA.3 โดยเฉพาะ BA.2 มีอัตราการเพิ่มจำนวนเป็น 120% เมื่อเทียบกับ BA.1 และจากข้อมูลทางคลินิกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้พบว่าอาจ ไม่ก่อโรครุนแรง เช่นเดียวกับ BA.1
ทำให้เหมือนว่าธรรมชาติได้ส่ง BA.1 มาแล้วยังส่ง BA.2 ตามมาด้วยเพื่อชะลอหรือยุติการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก (Pandemic)
คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่า การคาดคะเนโดยอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยังมีจำกัดจะคลาดเคลื่อนไปมากน้อยเพียงใด
คำเตือน โรคโควิด-19 ยังถือว่าเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ ที่เรายังไม่เข้าใจธรรมชาติของการเกิดโรคอย่างถ่องแท้
ดังนั้นต้องไม่ประมาทการ์ดหรือมาตรการต่าง ๆ ที่เราร่วมปฏิบัติกันมาอย่างเข้มข้นต้องไม่ลดหย่อน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ถอดรหัสพันธุกรรม โอไมครอน ‘BA.2’ กลายพันธ์จากสายพันธุ์เดิม ‘อู๋ฮั่น’ มากสุด
- ‘หมอมนูญ’ หวังเดือน มี.ค. ไทยโอไมครอนขาลง ฉีดวัคซีนครบโดส อย่ากลัวมากไป
- ผลวิจัย CDC ย้ำความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ต้านโอไมครอน