COVID-19

คณะกรรมการโรคติดต่อฯ วางเกณฑ์พิจารณาโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางพิจารณาเตรียมพร้อมให้โรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น หากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเห็นชอบการจัดตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายก รัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยในวันนี้ (27 มกราคม 2565) ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้หารือใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

โรคประจำถิ่น

1. เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็น โรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยมีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น

  • ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน
  • อัตราป่วยตาย น้อยกว่า 0.1%
  • การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10%
  • ประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ
  • กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80%

ทั้งนี้ หากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุข จะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

2. เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิด และวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

อนุทิน

ปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ คงที่เฉลี่ยวันละ 7,000-9,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอไมครอน ความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา ทำให้มีผู้ป่วยหนักต้องใส่ท่อช่วยหายใจและเสียชีวิตลดลง อีกทั้งมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ยังสามารถควบคุมป้องกันโรคได้ดี

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น จะฉีดให้ตามสูตรที่กำหนด เพื่อให้บริหารจัดการวัคซีนที่มีอยู่ได้ถูกต้อง ยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาเป็นวัคซีนที่ดี

นอกจากนี้ ได้เตรียมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้ 60 ล้านโดส และไฟเซอร์ อีก 30 ล้านโดส สำหรับเป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 และ 4 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ จะเน้นการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้นมากขึ้น

ส่วนเข็มที่ 4 จะฉีดให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีความจำเป็น จึงขอความร่วมมือช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo