COVID-19

โอไมครอน BA.2 ในไทยเจอแล้ว 14 ราย ยืนยันยังไม่พบอาการรุนแรง

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอน BA.2 สะสมแล้ว 14 ราย ยันยังไม่พบข้อมูลอาการรุนแรงมากขึ้น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ล่าสุดประเทศไทยพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน BA.2 สะสมจำนวน 14 ราย โดยครั้งแรกพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.2 เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2565 และรายงานเข้าระบบ GISAID รายแรก วันที่ 19 มกราคม 2565

โอไมครอน BA.2

สำหรับผู้ติดเชื้อโอไมครอน BA.2 มาจากต่างประเทศ 9 ราย ในประเทศ 5 ราย โดยในจำนวน 5 ราย เสียชีวิต 1 ราย คือ ผู้ติดเชื้อผู้สูงอายุ 85 ปี ที่รายงานเสียชีวิตก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเจอสายพันธุ์ย่อยไหน ก็สามารถตรวจเจอเชื้อจากระบบ RT-PCR และชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตัวเอง หรือชุดตรวจ ATK ได้ทั้งหมด แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบางตำแหน่งของเชื้อไวรัสก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้อมูลสายพันธุ์ย่อย BA.2 ยังน้อยเกินไปที่จะสรุปว่าเชื้อมีความรุนแรงหรือ แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่ เนื่องจากยังไม่พบสัดส่วนการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

ขณะที่ลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบการกลายพันธุ์บน สไปร์ท โปรตีน ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ 1
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ในส่วนของการแพร่ระบาดของโอไมครอนในประเทศไทย ยังคงพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นเดือนมกราคมนี้คาดว่าโอไมครอนจะครองพื้นที่การระบาดในประเทศไทย 97-98% และจากการเฝ้าระวังกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศ พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นสายพันธุ์โอไมครอนทั้งหมด

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในช่วงวันที่ 23-25 มกราคม พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 900 กว่าราย ส่วนสายพันธุ์เดลตาลดลงอยู่ที่ 50 ราย ซึ่ง 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนมากที่สุด คือ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต ร้อยเอ็ด และสมุทรปราการ

ด้านภาพรวมสายพันธุ์การแพร่ระบาดทั่วโลก คือ โอมิครอน BA.1 มากที่สุด ส่วน BA.2 ก็เริ่มพบในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถอดรหัสพันธุ์กรรมของเชื้อไวรัสเข้าระบบ GISAID กว่า 12,000 ตัวอย่าง โดยได้สัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

การพบสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.2 ขณะนี้ยังไม่น่ากังวล ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยอัตราเสียชีวิตต่ำ และขอความร่วมมือประชาชนให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo