COVID-19

โอไมครอน หลากหลายกว่าที่คิด ไวรัสปรับตัวให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด

“ดร.อนันต์” เตือนจับตาโอไมครอน หลากหลายกว่าที่คิด หลังพบการกลายพันธุ์ เปลี่ยนตำแหน่งต่อเนื่อง ชี้ไวรัสกำลังปรับตัวให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เผยผลวิจัยอินเดีย พบโอไมครอนในหนูแฮมสเตอร์ พบไวรัสในปอดสูง สะท้อนการปรับตัวของไวรัสโอไมครอน หลากหลายกว่าที่คิด โดยระบุว่า

โอไมครอน หลากหลาย

ไวรัสโอไมครอนที่ห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่นำมาศึกษาวิจัยจะเป็นสายพันธุ์หลัก เรียกว่า BA.1 ซึ่งในความเป็นจริง BA.1 มีความหลากหลายในตัวเองมากมาย

โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งหนึ่งบนโปรตีนหนามสไปค์ที่พบได้ใน BA.1 ที่มีการกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกคิดเป็น 15-20% ของ BA.1 ทั้งหมด คือ การเปลี่ยนตำแหน่งที่ 346 จาก Arginine ไปเป็น Lysine (R346K)

มีข้อมูลว่าตำแหน่ง 346 นี้มีส่วนสำคัญให้ BA.1 ที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้หลบหลีกแอนติบอดีได้ดีกว่า BA.1 โดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ

หนู

อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ความสามารถในการก่อโรคของ BA.1 ในสัตว์ทดลอง ซึ่งการศึกษาจากหลายแล็บที่ใช้ BA.1 ในหนูแฮมสเตอร์ดูจะสอดคล้องกันว่า โอไมครอน BA.1 ติดแฮมสเตอร์ได้น้อยมาก โดยเฉพาะความสามารถในการติดเชื้อในปอด ซึ่งแทบจะไม่พบปริมาณไวรัสในตัวสัตว์ทดลองเลย

แต่เมื่อวานนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ออกมาจากทีมวิจัยในอินเดียแสดงว่า หนูแฮมสเตอร์ที่ติดโอไมครอนสามารถพบไวรัสในปอดหนูที่สูงมาก ปอดมีร่องรอยความเสียหายไม่แตกต่างจากการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ

หนู1

ทีมวิจัยพบว่าไวรัสที่นำมาใช้ศึกษาแตกต่างจากทุก ๆ ที่ก่อนหน้านี้คือ เป็น BA.1 ที่มี R346K ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ไวรัสมีคุณสมบัติแตกต่างจาก BA.1 ส่วนใหญ่

โอไมครอนมีความหลากหลายมากกว่าที่คิดนะครับ เราจะเห็นข้อมูลลักษณะนี้ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ จากไวรัสที่กำลังปรับตัวให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด ไม่รวมสายพันธุ์ BA.2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์น้องของโอไมครอน BA.1 ที่ดูเหมือนจะแพร่กระจายไวเช่นเดียวกัน

คงต้องเฝ้าติดตามข้อมูล และปรับความเข้าใจไวรัสตัวนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo