COVID-19

‘หมอนิธิพัฒน์’ หวั่นไทยซ้ำรอยอังกฤษ-สหรัฐ บุคลากรการแพทย์ติดโควิด

“หมอนิธิพัฒน์” ยกเคสอังกฤษ-สหรัฐ บุคลากรการแพทย์ติดโควิด ส่งผลคนทำงานไม่พอในโรงพยาบาล ย้ำตรวจ ATK สม่ำเสมอ ป้องกันตนเอง ลดเสี่ยงโอไมครอน

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล หวั่นปัญหาบุคลากรติดเชื้อโอไมครอนพุ่ง กระทบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล บุคลากรตึงเครียด โดนระบุว่า

บุคลากรการแพทย์

ดูแลกันและกันให้ดี ๆ ด้วย อย่าปล่อยให้เป็นเช่นบุคลากรการแพทย์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งกำลังป่วยจากโอไมครอนกันเป็นจำนวนมาก จนเหลือคนไม่เพียงพอในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่ใช่โควิด

สำหรับผู้ป่วยโควิดโอไมครอนที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล พบได้น้อยเหมือนบ้านเราขณะนี้ จะมีก็แต่กลุ่มคนเปราะบาง หรือผู้ไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับ แต่ยังไม่ครบถ้วน

ผลจากการมีคนไม่พอทำงานในโรงพยาบาล ทำให้ถูกร้องเรียนจากผู้มารับบริการ สร้างความตึงเครียดในหมู่บุคลากรเพิ่มขึ้นไปอีก

ด้านรัฐบาลอังกฤษก็พยายามหาทางช่วยเหลือ โดยการส่งแพทย์และบุคลากรอื่นในสังกัดกระทรวงกลาโหมเข้าไปช่วยเสริมการปฏิบัติงาน

เห็นอย่างนี้แล้วบ้านเราต้องช่วยกันชะลอการระบาดของโอไมครอนให้เป็นไปอย่างช้าที่สุด อย่าไปเชื่อหมอที่พยายามบอกให้ยกธงขาวโดยไม่ยอมสู้อย่างเต็มที่สักตั้งหนึ่งก่อน

หมอนิธิพะฒน์1

เมื่อดูตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ค่อยใจชื้นเพราะวันนี้ก็ยังทรง ๆ อยู่ แต่ตัวเลขผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจยังลดลงช้าๆ อย่างต่อเนื่อง

ที่โรงเรียนแพทย์ริมน้ำ ในจำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่แต่ละวัน จะเป็นบุคลากรราว 10% ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากโอไมครอน โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย

แต่นอกจากเจ้าตัวต้องหยุดงานอย่างน้อย 14 วันแล้ว จะมีเพื่อนร่วมงานที่สัมผัสเสี่ยงสูงต้องถูกพักงานเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 7 วันอีกอย่างน้อย 3-4 คนต่อบุคลากรที่ป่วยหนึ่งคน

ถ้าเป็นไปแบบนี้เรื่อย ๆ คงจะไม่ต่างจากอุทาหรณ์ของประเทศอังกฤษที่ยกมา นอกจากต้องช่วยเตือนกันให้ระมัดระวังตัวทั้งในเวลางานและนอกเวลางานกันมากขึ้นแล้ว

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๒๐๑๑๒ 1

 

การตรวจ ATK สม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงได้ทางหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่บุคลากรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นครบแล้ว จึงมักไม่ค่อยแสดงอาการของโรคออกมาให้เห็นชัดเจน

สหรัฐเป็นอีกประเทศที่ถูกโจมตีหนักด้วยโอไมครอน หลังจากออกคำแนะนำลดระยะเวลาการกักตัวของผู้ป่วยโควิดจากโอไมครอนที่ไม่มีอาการ เพื่อแก้ปัญหาระบบเศรษฐกิจชะงักงันจากขาดแรงงาน

ไม่นานนักก็ออกคำแนะนำอีกชุด เพื่อลดระยะเวลากักตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่ป่วยด้วยโควิดแต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย รวมถึงนำการตรวจ ATK มาใช้ประกอบการกลับเข้าทำงาน

หวังว่าประเทศไทยเราจะไม่ก้าวต่อไปจนถึงจุดนั้น

หมอนิธิพัฒน์

พอจะสยบข่าวลือได้บ้าง หลังจากที่เพาะเลี้ยงไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้เองในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สุ่มชุดตรวจ ATK 8 ยี่ห้อที่ได้รับการรับรองและมีจำหน่ายในท้องตลาด แล้วนำมาทดสอบกับเชื้อที่แยกได้ในประเทศเราเอง พบว่าทั้ง 8 ยี่ห้อนั้นสามารถตรวจจับโอไมครอนได้ ในปริมาณเชื้อที่เทียบเท่าการติดเชื้อในช่วง 5-7 วันแรก

เพียงแต่ถ้าตรวจในวันแรก ๆ หรือวันท้าย ๆ หลังรับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ ผลตรวจอาจเป็นลบได้ ดังนั้นถ้าเรามีอาการสงสัยหรือมีประวัติสัมผัสเสี่ยง ต้องทำการตรวจซ้ำบ่อยกว่าที่เคยแนะนำเดิม อาจต้องเป็นทุกวันเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 วัน

สำหรับในช่วงที่มีการระบาดสูงเช่นปัจจุบันนี้ โอกาสที่จะเป็นผลบวกลวงเกิดขึ้นได้น้อยมาก หลายคนคงอยากรู้ว่า 8 ยี่ห้อมีอะไรบ้าง ลองไปส่องดูในรูปที่แสดงน่าจะพออนุมานได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo