COVID-19

สธ.หวังโควิด-19 ลดความรุนแรง ก้าวสู่โรคประจำถิ่นปีนี้ คาดโอไมครอนระบาด 2 เดือน

สธ.คาดโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในปีนี้ หลังเชื้อลดความรุนแรง ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิต้านทาน และชะลอการแพร่ระบาด พร้อมตั้งเป้าโอไมครอนระบาดอย่างน้อย 2 เดือน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในปี 2565 โรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น โดยการจะเป็นโรคประจำถิ่น ชี้วัดได้จากลักษณะของโรคลดความรุนแรงลง ประชาชนมีภูมิต้านทาน  และการแพร่ระบาดลดลง รวมทั้งมีระบบรักษาที่มีประสิทธิภาพ

โรคประจำถิ่น

ทั้งนี้ สาเหตุที่โควิดเป็นโรคระบาดรุนแรง เพราะอัตราเสียชีวิตสูงถึง 3% และค่อย ๆ ลดลง หากลดมาถึง 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้

จากการปรึกษากับ กรมควบคุมโรค ประเมินสถานการณ์ระบาดในไทยว่า ขณะนี้เป็นระลอกโอไมครอนที่จะอยู่ประมาณ 2 เดือนจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง หากการจัดการวัคซีนดี ประชาชนร่วมฉีดให้มีภูมิต้านทาน โรคไม่กลายพันธุ์เพิ่ม การติดเชื้อไม่รุนแรงมากขึ้น ก็คาดว่าภายในปีนี้ จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปได้

สำหรับแผนรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ระลอกมกราคม 2565 หรือโอไมครอน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการสาธารณสุข มุ่งชะลอการระบาดเพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลได้ การฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้ประชาชน การคัดกรองตนเองด้วย ATK และการติดตามเฝ้าระวังกลายพันธุ์

2. มาตรการการแพทย์ มุ่งเน้นใช้ระบบการรักษาที่บ้านและชุมชน (Home Isolation/Community Isolation) ระบบสายด่วนประสานการดูแลผู้ติดเชื้อ ช่องทางด่วนส่งต่อเมื่อมีอาการมากขึ้น และเตรียมพร้อมยาและเวชภัณฑ์

นพ.เกียรติภูมิ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ ยืนยันว่า ยังมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ติดโควิด-19 ถ้าเริ่มต้นรักษาได้เร็ว รวมถึงสายพันธุ์โอไมครอน ล่าสุดยังมีสำรองประมาณ 158 ล้านเม็ด

3. มาตรการสังคม ย้ำเตือนประชาชนใช้การป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention:UP) และมาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการ

4. มาตรการสนับสนุน ค่าบริการรักษาพยาบาล และค่าตรวจต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาลดวันกักตัวกรณีเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากเดิมต้องกักตัวนาน 14 วัน นานกว่ากรณีคนติดเชื้อที่รักษาในรพ. อยู่ที่ 10 วัน จึงให้พิจารณาว่า จะสามารถลดวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงสูงเหลือ 7 วันได้หรือไม่

พร้อมกันนี้ ยังให้พิจารณาปรับนิยามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใหม่ หากใส่หน้ากากอนามัยถือเป็นสัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่หากสัมผัสระหว่างที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยจึงจะถือเป็นสัมผัสเสี่ยงสูง

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจังหวัดที่พบติดเชื้อสูงคือ ชลบุรี สมุทรปราการ กทม. พบแนวโน้มเริ่มชะลอตัว หากลดกิจกรรมเสี่ยง ลดการเคลื่อนที่จะลดการแพร่ระบาดลงได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์

ขณะที่คลัสเตอร์กาฬสินธุ์ ขณะนี้ผู้ติดเชื้อลด ควบคุมได้ เกิดจากความร่วมมือของประชาขน งดกิจกรรมเสี่ยง

ส่วนที่ชลบุรี ภูเก็ตขณะนี้มีการตรวจเชิงรุกมากขึ้น นำรถตรวจโควิดพระราชทานลงไปเพื่อควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น

หากเคร่งครัดทุกมาตรการที่รัฐกำหนด รวมถึงการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีเพียงพอในสต็อคมีแอสตร้าเซนเนก้ามากกว่า 10 ล้านโดส และไฟเซอร์มากกว่า 10 ล้านโดส คาดภายใน 1-2 สัปดาห์ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก จะสามารถคุมสถานการณ์ได้

กรณีการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขนั้น หากเทียบการระบาดระลอกเดือน เมษายน 2564 ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสูงสุดกว่า 100 คน ในขณะที่เดือน มกราคม 2565 มีการระบาดของโอไมครอนเพิ่มขึ้น พบว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อวันละ 30-40 ราย ถือว่ามากพอควร

ดังนั้น จึงขอย้ำมาตรการในหน่วยงานเคร่งครัดมากขึ้น ที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนเข็ม 4 โดยบุคลากรที่ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ไปแล้ว 3 เดือนให้มาฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo