COVID-19

‘ศบค.’ เปิดยอด ‘โอไมครอน’ ล่าสุด 2,338 ราย กระจาย 55 จังหวัดทั่วประเทศ

“ศบค.” เผยยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “โอไมครอน” ล่าสุด  2,338 ราย กระจายใน 55 จังหวัดทั่วประเทศ ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ เป็นผู้ติดเชื้อ จากกลุ่ม แรก ส่วนที่เหลือมาจากต่างประเทศ ยังกังวลกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้รับวัคซีน 

วันนี้ (5 ม.ค.)  พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า  ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึงวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ไทยพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์โอไมครอนทั้งสิ้น 2,338 ราย เพิ่มขึ้น 20.92%  โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อมาจากกลุ่มแรก

ขณะที่ผลการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา พบผู้ติดเชื้อคิดเป็นสัดส่วน 78.91%

โอไมครอน

ไทยพบเชื้อโอไมครอนกระจายไปแล้ว 55 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน 676 ราย กาฬสินธุ์ 233 ราย ชลบุรี 204 ราย ร้อยเอ็ด 180 ราย ภูเก็ต 175 ราย สมุทรปราการ 117 ราย และมหาสารคาม 103 ราย

พญ.สุมนี กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงหลักที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน กลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ต้องขอความร่วมมือให้จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงได้น้อย อย่าง ปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี เตรียมระบบการรักษาให้พร้อม ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยที่จะเพิ่มขึ้น ซ้อมระบบการรักษาที่บ้าน การรักษาในชุมชน ให้ท้องถิ่นประสานงานกับสาธารณสุข

ประเมินสถานการณ์โอไมครอนระบาด

ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวว่า หลังเทศกาลปีใหม่ได้มีการประเมินสถานการณ์มาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคมเป็นต้นมา เพื่อสรุปในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันศุกร์นี้ (7 ม.ค.) ในหลายเรื่องที่น่าสนใจ คือ

1. มาตรการปรับสีพื้นที่ตามสถานการณ์ การจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มกิจกรรม และ การดื่มสุราในร้านอาหาร

2. การปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค จากเดิมที่มีแนวโน้มว่า จะมีการพิจารณาว่าจะเปิดสถานบันเทิง เมื่อมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคัตเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับ และไม่ได้อยู่ภายใต้การจัดการตามมาตรการป้องกันที่กำหนด ก็จะมีการพิจารณาในวันที่ 7 มกราคมนี้เช่นกัน

3. มาตรการเพิ่มเติมจัดการกับเชื้อโอไมครอนที่มีการระบาดอย่างรวดเร็ว

พญ.สุมณี ชี้แจงด้วยว่า การฉีดวัคซีนจะป้องกันได้ดีกว่าการปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติ เนื่องจากโอไมครอนแพร่ระบาดเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับไม่ทัน และยังมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงกว่า

นอกจากนี้ ยังต้องดูเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวด้วยว่าจะเป็นอันตรายต่อระบบการหายใจหรือไม่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo