COVID-19

ทะลุ 2,000!! เกาะติดโอไมครอนในไทยวันนี้ สะสม 2,062 ราย จับตากลายพันธุ์

กรมวิทย์ฯ เผยผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทย ล่าสุดสะสม 2,062 ราย พร้อมเฝ้าระวังใกล้ชิดการกลายพันธุ์ ล่าสุดยังไม่มีข้อมูลน่าวิตก ขณะที่ภูมิคุ้มกันจากโอไมครอนสู้เดลตาได้ แต่ต้องเป็นกลุ่มฉีดวัคซีนโควิด

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผู้ติดเชื้อโอไมครอนตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564-3 มกราคม 2565 พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในไทย สะสม 2,062 ราย รวม 54 จังหวัด

โอไมครอนในไทย

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 2,062 ราย อาทิ กรุงเทพมหานคร 585 ราย โดยติดในประเทศ 7 ราย ส่วนกาฬสินธุ์ มี 233 ราย ในจำนวนนี้ติดเชื้อในประเทศ 231 ราย ร้อยเอ็ด 180 รายติดในประเทศทั้งหมด 180 ราย ภูเก็ต 175 ราย ติดในประเทศ 17 ราย ชลบุรี 162 ราย เป็นการติดในประเทศ 70 ราย และสมุทรปราการ 106 ราย ติดในประเทศ 28 ราย

ทั้งนี้ โอไมครอนจะเริ่มส่งผลให้จำนวนการติดเชื้อในภาพรวมของประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อจำนวนการเสียชีวิต โดยขอให้เข้าใจตรงกันว่า การติดเชื้อโควิดวันนี้ 70-80% ยังเป็นเดลตา ซึ่งยังมีผลทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 คนสูงอายุ คนมีโรคประจำตัว

นอกจากนี้ การตรวจหาสายพันธุ์โควิด ไม่ได้เป็นการตรวจสายพันธุ์ทุกเคส แต่จะใช้ระบบเฝ้าระวังปกติตามเกณฑ์เพื่อประเมินสถานการณ์ และอาจไม่ต้องอัพเดตทุกวัน

สายพันธุ์เฝ้าระวัง

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลการศึกษาผู้ติดเชื้อบางส่วนจากโอไมครอน พบว่า อาจทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นสามารถสู้เดลตาได้ แต่จะขึ้นสูงเฉพาะในกลุ่มผู้ฉีดวัคซีนแล้ส

กรณีมีกระแสข่าวระบุว่า มีการค้นพบสายพันธุ์อื่น ๆ เพิ่มขึ้นนั้น จากเดิมองค์การอนามัยโลก ระบุสายพันธุ์โควิดที่น่าห่วงกังวล (Variants of Concern: VOCs) 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา

จากนั้นก็มีสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม (Variants Under Monitoring: VUM) ซึ่งขณะนั้นมี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งมาก่อน คือ B.1.640 แต่เงียบหายไป ถัดมาก็เป็น B.1.1529 คือโอไมครอน จึงมีการขยับชั้นเป็น VOCs โดยองค์การอนามัยโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว

นพ.ศุภกิจ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสายพันธุ์ B.1.640 มีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นลูกหลาน คือ B.1.640.1 เป็นของเดิมที่เคยเกิดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และ B.1.640.2 ซึ่งอันหลังเจอในฝรั่งเศส โดยต้นทางมาจากคองโก เจอประมาณ 400 ราย ซึ่งพบการกลายพันธุ์ของสไปรก์โปรตีน ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง โดยเฉพาะบางคนบอกว่าพบ N501Y และ E484Q ซึ่ง 2 ตัวนี้อาจหลบวัคซีนได้

ขอย้ำว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะการพบกรณีดังกล่าวเจอได้หลายตัว ทั้งเบตา แกมมา หรือแม้กระทั่งโอไมครอน โดยในระบบการเฝ้าระวังของโลกมีการติดตาม และทำให้ทราบว่ามีการกลายพันธุ์ออกมา จึงต้องจับตากันต่อไป

ส่วนการศึกษาในแอฟริกาใต้ ที่พบว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอน จะเกิดภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเฉลี่ย 14-15 เท่า ซึ่งเป็นกลไกธรรมชาติ โดยหากติดเชื้อโอมิครอนซ้ำ ภูมิคุ้มกันก็จะจัดการได้ ขณะเดียวกันยังมีข้อสังเกตสำคัญว่า เมื่อติดเชื้อแล้วปรากฎว่า ภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นยังป้องกันเดลตาได้ประมาณ 4 เท่ากว่า ๆ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo