COVID-19

หน้ากากผ้า กันโอไมครอนไม่ได้จริงหรือ ‘หมอนิธิพัฒน์’ ไขข้อสงสัยทุกประเด็น

“หมอนิธิพัฒน์” เคลียร์ชัด หน้ากากผ้า กันโอไมครอนไม่ได้จริงหรือ ย้ำป้องกันได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับขนาดของไวรัสที่จับกับละอองฝอย

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ประเด็นหน้ากากผ้า กันโอไมครอนไม่ได้จริงหรือ โดยระบุว่า

หน้ากากผ้า กันโอไมครอน

วันนี้น่าจะโพสต์หลายรอบมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุเนื่องจากเมื่อบ่ายให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องการแพร่กระจายเชื้อโอไมครอน แล้วเจอสื่อที่ทำการบ้านมาดีและรู้จริงสอบถามเพิ่มเติมว่า การเผยแพร่เมื่อสองวันก่อนโดยกรมควบคุมโรคผ่านทางศบค. เรื่องหน้ากากผ้ากันโอไมครอนไม่ได้จริงหรือไม่

พออธิบายให้เขาฟังถึงข้อมูลเชิงวิชาการด้านหลักการทำงาน และคุณสมบัติของหน้ากากชนิดต่าง ๆ เขาถามกลับว่าถ้าเป็นตามที่ผมให้ความเห็น ทำไมหน่วยงานรัฐกลับเผยแพร่เฟคนิวส์เสียเอง ได้ชี้แจงไปว่าอาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของผู้จัดทำข้อมูลมากกว่า

ความเห็นที่ผมให้เขาไปคือ ก่อนอื่นหน้ากากจะมีประสิทธิภาพการกรองไวรัสซาร์โควี-2 หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับว่าสายพันธุ์อะไร แต่ขึ้นกับว่าไวรัสนั้นจับอยู่กับละอองลอยมีขนาดเท่าไร หลุดรอดช่องที่เกิดจากเส้นใยเรียงตัวกันอยู่หรือไม่

ขนาดของไวรัสที่ประมาณ 0.1 ไมโครเมตร และอาจใหญ่กว่านั้น ถ้าจับรวมกันบนผิวของของเหลว จะไม่สามารถลอดผ่านเส้นใยของหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าที่ได้มาตรฐาน

สำหรับประสิทธิภาพของหน้ากากนั้น ขึ้นกับองค์ประกอบสองประการคือ คุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ทำหน้ากาก และ วิธีการสวมใส่ที่ถูกต้อง รวมถึงประสิทธิภาพและมาตรฐานของหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้า

ใครสนใจหาอ่านรายละเอียดได้จากโพสต์เมื่อวันที่ 1 และ 2 ธันวาคม, 5 ตุลาคม, และ 22 สิงหาคม

หน้ากาก

จากนั้นจึงไปพยายามหาอ่านเอกสารนิพนธ์ต้นฉบับที่ ศบค. อ้างอิงว่า มาจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน ที่เป็นความเห็นแพทย์ท่านหนึ่งว่า หน้ากากผ้าไม่มีประโยชน์ เมื่อต้องรับมือกับโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน

เท่าที่หาในฐานข้อมูล Pubmed ยังไม่พบเอกสารนี้ ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องมีช่วยส่งให้อ่านเพื่อทำการคิดวิเคราะห์ประเมินคุณค่า (critical appraisal) ด้วย

ยิ่งในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการผลิต micro/nanofibrous nonwovens ถ้านำมาทำหน้ากากผ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพการกรองใกล้เคียงหน้ากากอนามัย แต่ใส่สบายกว่าเพราะอากาศไหลผ่านได้ดีกว่า แถมช่วยระบายความร้อนที่สะสมด้านในของหน้ากากได้ดีกว่าหน้ากากอนามัยด้วย https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8523218/…

โปรดอย่าทำให้ผู้ผลิตหน้ากากผ้ามีคุณภาพดีในบ้านเราตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ต้องเสียกำลังใจและถูกเข้าใจผิดจากสาธารณชน

แถมในข้อความข่าวยังทำสับสนว่า ให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบ 3 ชั้นแทน ชาวบ้านอาจตีความว่า ให้ใส่หน้ากากอนามัย 3 อันซ้อนกัน

ที่จริงคงหมายถึงหน้ากากอนามัยที่ประกอบด้วยวัสดุ 3 ชั้น ซึ่งไม่ต้องพูดถึงก็ได้เพราะได้ถูกกำหนดโดยมาตรฐานการผลิตของ สมอ.และของ อย. อยู่แล้ว

ท้ายสุดได้เข้าไปดูในคำแนะนำล่าสุดของ CDC อเมริกาเมื่อวันที่ 6 ที่ผ่านมานี้เอง https://www.cdc.gov/…/masking-science-sars-cov2.html ก็ยังแนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าอยู่ โดยให้เลือกชนิดใช้ชนิดวัสดุอย่างน้อยสามชั้น

แถมในคำแนะนำนี้ ยังอ้างหลักฐานงานวิจัยโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการใส่หน้ากากตลอดเวลาในการป้องกันโควิด เพียงแต่ไม่มีรายละเอียดว่าหน้ากากในงานวิจัยนี้มีหน้ากากผ้ารวมอยู่ด้วยหรือไม่ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7588529/

ยังไม่สายไปถ้าจะออกมาแก้ข่าวที่ทำให้ชาวบ้านสับสน เดี๋ยวจะถูกหน่วยงานของรัฐมาสอบถามว่าเป็นข่าวจอมปลอมจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ผมมีประสบการณ์มาก่อนกรณีแพทย์ลงสาเหตุการตายว่าไม่ใช่จากโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo