COVID-19

‘ไทย’ ยังไม่รีบพิจารณาให้ ‘โควิด’ เป็น ‘โรคประจำถิ่น’

กรมควบคุมโรค ยังไม่รีบพิจารณาให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น แม้สถานการณ์ส่อนิ่ง เพราะยังต้องรอต่างประเทศ เคาะพร้อมกันด้วย

นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า การจะพิจารณานั้น ต้องดูว่าอัตราการติดเชื้อจะยอมรับที่ระดับไหน ซึ่งจะประเมินหลายเรื่อง ทั้งศักยภาพการรับมือ การดูแลรักษาผู้ป่วย และหลาย ๆ ปัจจัยรวมกัน

ขณะนี้ยังไม่มีใครฟันธงว่า ต้องขีดเส้นที่เท่าไหร่ แต่ในเชิงการควบคุมโรคจะมีระดับที่อ้างอิงไว้ว่า เลเวลระดับนี้เราควบคุมได้ เช่น อย่างกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะขีดเส้นไว้ที่ หากอัตราการติดเชื้อไม่เกิน 5-10 ต่อแสนประชากร ถือว่าเราคอนโทรลได้ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เตียงไม่ล้น

โรคประจำถิ่น

นพ.วิชาญ กล่าวว่า สายพันธุ์เปลี่ยนแปลงตลอดอยู่แล้ว แต่การพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นต้องดูหลาย ๆ ประเทศ ดูสถานการณ์โลกด้วย ก็ต้องดูไปเป็นขั้นตอนก่อน

ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตัดสิน ประกาศเป็น โรคประจำถิ่น

อย่างตอนนี้คือ การควบคุมสถานการณ์ แต่หากจะให้เป็นโรคประจำถิ่น ตัวเลขก็จะลดลงไปอีก แต่ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนทั่วโลกมีการพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกัน ทั้งในองค์การอนามัยโลก และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ แต่ยัง ไม่มีการสรุป

ส่วนความกังวลการระบาดขึ้นในช่วงปีใหม่ นพ.วิชาญ กล่าวว่า จริง ๆ ตัวที่มาช่วยได้คือวัคซีน เพราะช่วยลดความรุนแรง และป้องกันระบาดได้ เพราะการติดต่อจะน้อยลง

ส่วนเรื่องสายพันธุ์ที่กังวลโอไมครอน แต่ที่อยากให้ทำมากที่สุดตอนนี้คือการเฝ้าระวังการเข้ามา โดยเฉพาะกรณี เทสต์แอนด์โก ต้องตรวจเชื้อให้รู้ผลก่อน จึงจะปล่อยได้ ต้องรัดกุมให้เต็มที่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo