COVID-19

หมอเฉลิมชัย สรุปไทม์ไลน์ จุฬาฯ พร้อมฉีดวัคซีนฝีมือคนไทยกลางปี 2565

“หมอเฉลิมชัย” สรุปความก้าวหน้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวัคซีนของไทย ทั้ง วัคซีน ChulaCOV-19 และใบยาไฟโตฟาร์ม คาดเริ่มฉีดให้ประชาชนกลางปี 2565

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เผยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงความคืบหน้าล่าสุด วัคซีนของไทยจะสามารถฉีดให้ประชาชนได้ในกลางปี 2565

หมอเฉลิมชัย

จากการที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ได้ริเริ่มทำการวิจัยพัฒนาวัคซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงสุด และมักจะประสบความสำเร็จเฉพาะในประเทศรายได้สูงนั้น

ขณะนี้ มีการวิจัยค้นคว้าวัคซีนอยู่ 300 ชนิด ทดลองในมนุษย์แล้ว 100 ชนิด จดทะเบียนฉุกเฉิน 14 ชนิด ใช้ทั่วไปในบางประเทศได้ 8 ชนิด

ทั้งหมด ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินวิจัยนับหลายหมื่นล้านบาทต่อโครงการ และเกิดขึ้นในประเทศร่ำรวยทั้งสิ้น

ไทยซึ่งเป็นประเทศรายได้ปานกลาง เมื่อตั้งต้นจะวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด จึงมีความคิดเห็น เชิงตั้งคำถามสงสัย ว่าจะทำได้และสำเร็จจริงหรือไม่

แต่ด้วยความที่ประเทศไทย แม้เป็นประเทศรายได้ปานกลางกำลังพัฒนา แต่ในเรื่องขององค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ในขั้นสูง

จนขณะนี้ ไทยเรามีวัคซีนอยู่ 6 เทคโนโลยี ที่อยู่ในระหว่างการทดลองวิจัย

วานนี้ 18 พฤศจิกายน 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดแถลงข่าว ความคืบหน้าของวัคซีนโควิดไทยคือ
วัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสองชนิด ได้แก่ เทคโนโลยี mRNA และเทคโนโลยีโปรตีนซับยูนิต (Protein subunit) โดยมีสาระสำคัญที่สมควรแก่การรับทราบและติดตาม ดังนี้

  • วัคซีน ChulaCOV-19 (mRNA) ของไทย จะสามารถฉีดให้กับประชาชนได้ในกลางปี 2565
  • วัคซีนใบยาไฟโตฟาร์ม (Protein subunit)จะฉีดให้กับคนไทยได้ในปลายปี 2565

จุฬา

หมอเฉลิมชัย ไล่เรียงไทม์ไลน์ การพัฒนาวัคซีนไทย

ความคืบหน้าของวัคซีนเทคโนโลยี mRNA

1. ทดลองในมนุษย์เฟส 2 เสร็จสิ้นแล้ว

2. จะเริ่มทดลองเฟส 3ในเดือนมกราคม 2565

3. การทดลองเฟส 3 จะเสร็จสิ้นในปลายเดือนมีนาคม 2565

4. จะสามารถนำมาฉีดในมนุษย์ได้กลางปี 2565

5. กำลังจะเริ่มทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรับมือไวรัสกลายพันธุ์ (ขณะนี้ทดลองอยู่ในหนู)

จุดเด่นของวัคซีน

1. ตัวหุ้มไขมันดีมากในระดับเท่ากับPfizer และ Moderna

2. สามารถเก็บรักษาได้ง่ายกว่า คือเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสนานถึง 3 เดือน ในขณะที่ของ Pfizer เก็บได้เพียง 1 เดือน

3. สามารถกระตุ้น T-cell ได้ดีมาก ร่วมไปกับการกระตุ้น B-cell ให้สร้างภูมิคุ้มกันได้สูงมากเช่นกัน

ส่วนวัคซีนของบริษัทใบยาไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นโปรตีนซับยูนิต มีความคืบหน้าดังนี้

1. กำลังทดลองเฟส 1 ในมนุษย์

2. จะเริ่มทดลองเฟส 2ในเดือนหน้า

3. จะเสร็จสามารถฉีดในมนุษย์ได้ ในปลายปี 2565

4. วัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อรองรับไวรัสกลายพันธุ์ จะเริ่มทดลองคู่ขนานในเดือนมกราคม 2565

จุดเด่นของวัคซีน

1. เป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ดี สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก

2. จะสามารถเป็นฐานเทคโนโลยี ในการพัฒนาวัคซีนตัวอื่น ๆ สำหรับโรคระบาดต่อไป รวมทั้งยารักษาโรคมะเร็งด้วย

ทั้งนี้งบประมาณในการวิจัยทดลองวัคซีน จนสามารถฉีดในมนุษย์ได้ ในต่างประเทศจะต้องใช้เงินในระดับหลายหมื่นล้านบาท

LINE ALBUM รวมหมอโควิด ๒๑๐๙๑๙
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

ส่วนของประเทศไทย โครงการวัคซีน mRNA ได้รับการอนุมัติเงินจำนวน 2,300 ล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการทดลองอาสาสมัครจำนวน 30,000 คน รวมถึงการจัดเตรียมวัสดุและการผลิตวัคซีนอีกนับล้านโดส

ในขณะที่วัคซีนของใบยาไฟโตฟาร์ม ได้รับกรอบอนุมัติ 1,000 ล้านบาท โดยจะต้องทำการพิสูจน์ผลการวิจัยในเฟสสองให้เสร็จสิ้นเรียบร้อย ถึงจะสามารถเริ่มใช้กรอบ 1,000 ล้านบาทนี้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา งบประมาณแผ่นดินของประเทศ ใช้เป็นหลักสองในสาม และเงินบริจาคจากประชาชนหนึ่งในสาม ในการพัฒนาเฟสหนึ่งและสอง

ส่วนการพัฒนาในเฟสสาม จะต้องใช้เงินมากกว่าหลายเท่าตัว รัฐบาลจึงจัดสรรงบประมาณจำนวนมากดังกล่าวมาให้ ซึ่งก็ยังถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยวัคซีนของต่างประเทศ ซึ่งใช้สูงกว่าไทยนับหลายสิบเท่าตัว

ก็คงต้องชื่นชม ต้องให้กำลังใจ และต้องขอบคุณต่อ นักวิทยาศาสตร์ทีมงานทั้งหมด ผู้สนับสนุนต่าง ๆ ทั้งมหาวิทยาลัย รัฐบาล ประชาชน เอกชน ตลอดจนอาสาสมัครที่เข้ามาในร่วมในโครงการ

ทำให้ไทยมีโอกาสที่จะยืนบนขาของตนเอง ทั้งในเรื่องวัคซีนโควิด-19 วัคซีนต่อโรคระบาดอื่น ๆ และยารักษาโรคร้ายแรงอื่น ๆ ในอนาคตต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo