ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยผลวิจัย อ็อกซ์ฟอร์ด ชี้ชัดยาโมลนูพิราเวียร์ ได้ผลในกลุ่มที่ตรวจพบเชื้อภายใน 4 วัน แสดงอาการไม่เกิน 7 วัน ย้ำการฉีดวัคซีน รักษามาตรการความปลอดภัย ยังจำเป็นสูงสุด
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก เผยผลงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ถึงการทดลองใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ พบได้ผลดีในกลุ่มตรวจพบเชื้อภายใน 4 วัน แสดงอาการไม่เกิน 7 วัน แต่ไม่สามารถทดแทนการฉีดวัคซีนและการดูแลตัวเองได้ โดยระบุว่า
โมลนูพิราเวียร์ หรือจะสู้วัคซีน
กลายเป็นความหวังใหม่ในวิกฤตการระบาดโรคโควิด-19 เมื่อบริษัทเมอร์ค (Merck) ผู้ผลิตยาของสหรัฐอเมริกาแสดงผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการว่า ยาต้านไวรัสโรคโควิด-19 ชนิดรับประทานที่ชื่อว่า โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) สามารถลดปริมาณไวรัสในร่างกายลงได้ภายใน 4 วัน และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลงได้ถึง 50% สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง
แต่ถึงกระนั้น โมลนูพิราเวียร์นี้ก็ยังไม่สามารถทดแทนการฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ได้ เนื่องจากยาใช้ได้ผลดีในกลุ่มติดเชื้อที่มีอาการไม่มากเท่านั้น
โมลนูพิราเวียร์ มีฤทธิ์ทำให้สารพันธุกรรม RNA ของไวรัสเกิดความผิดปกติ จนเชื้อไม่สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จึงสามารถช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายในร่างกาย ยับยั้งอาการรุนแรงและลดความเสี่ยงในการเข้าโรงพยาบาลได้
ศ.นพ. ปีเตอร์ ฮอร์บี (Peter Horby) นักระบาดวิทยาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ย้ำว่า โมลนูพิราเวียร์อาจได้ผลดีในห้องปฏิบัติการก็จริง แต่จะได้ผลดีเมื่อใช้จริงกับคนไข้หรือไม่ ต้องติดตามผลการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมียาหลายชนิดล้มเหลวในขั้นตอนต่อไป
งานวิจัยดังกล่าวทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ตรวจพบเชื้อภายใน 4 วัน แสดงอาการไม่เกิน 7 วัน
ผลการทดลองพบว่าภายใน 4 วันหลังรับยา กลุ่มที่ได้รับยาขนาด 800 มก. ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่เชื้อได้ในร่างกาย
หลังจากนั้น ยังมีการตรวจติดตามระดับแอนติบอดีในทุกกลุ่มที่ได้รับ โมลนูพิราเวียร์ขนาดต่าง ๆ กันต่อไปอีก 28 วัน และพบว่ามีระดับการสร้างแอนติบอดีเท่า ๆ กันที่ 98% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การใช้โมลนูพิราเวียร์ ลดปริมาณไวรัสในช่วงต้นของการติดเชื้อ ไม่ได้ขัดขวางการสร้างแอนติบอดีที่จำเป็นของร่างกาย
ประโยชน์สูงสุดของการใช้โมลนูพิราเวียร์ มุ่งเน้นที่กลุ่มผู้ติดเชื้อระยะแรก ที่ต้องลดปริมาณไวรัสให้ได้มากที่สุด
เงื่อนไขสำคัญในการใช้ยานี้คือ ระดับความรุนแรงของอาการ และระยะเวลาหลังจากเริ่มติดเชื้อ
หากนำ โมลนูพิราเวียร์ไปใช้ในกรณีที่แตกต่างจากเกณฑ์การทดลองก็จะไม่มีประโยชน์ การฉีดวัคซีนและการรักษามาตรการความปลอดภัยก็ยังคงเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ดีที่สุด
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- โควิดวันนี้ 12 พ.ย. ทั่วโลกติดเชื้อ 252.63 ล้านราย ‘อียู’ อนุมัติใช้ยาต้านโควิด ‘โรนาพรีฟ-เรกคิโรนา’
- ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเงื่อนไข จอง จ่าย จัดสรร วัคซีนโมเดอร์นาเข็มกระตุ้น
- ข่าวดี! พบ T-cell ช่วยกำจัดโควิด-19 ข่าวร้าย! อาจไม่ได้ผลกับเดลตา