COVID-19

สธ.ยันไม่พบ ‘เดลตาพลัส AY.4.2’ ระบาดในไทย แต่เจออัลฟากลายพันธุ์!!

“รมช.สาธารณสุข” ยันยังไม่พบ “เดลตาพลัส AY.4.2” ระบาดในไทย เจอแค่ “AY.1” ที่ไม่รุนแรง ระทึก!! พบมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออัลฟาเป็น “อัลฟาพลัส” ขึ้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการติดเชื้อไวรัสโควิด ว่า จากการติดตามสถานการณ์และสุ่มตรวจตัวอย่างของเชื้อไวรัส ในไทยพบว่า ขณะนี้เชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ได้ยึดครอง 98.6% เชื้อไวรัสสายพันธุ์อัลฟาเหลือ 0.6% หรือ พบแค่ 7 คน และเบตา 0.8 % หรือ 9 คนเท่านั้น

สาธารณสุข

ส่วนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ การพบการระบาดของเดลตามากขึ้น ส่วนอัลฟา และเบตาลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอำนาจการระบาดและแพร่ของเดลตาที่มากกว่า ทำให้สายพันธุ์ที่แม้มีความรุนแรงอย่างเบตา แต่อำนาจการแพร่น้อยกว่าก็ค่อย ๆ ลดลง

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขณะนี้จากการติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในไทย พบมีการกลายพันธุ์ของเชื้ออัลฟาเกิด “อัลฟาพลัส” ขึ้น โดยพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งสำคัญอย่าง E484K ที่สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ จึงต้องเฝ้าระวัง โดยเป็นการพบเมื่อกันยายนและตุลาคมนี้ แบ่งเป็นปลายกันยายน ที่ จ.เชียงใหม่ พบ 2 คนในกลุ่มผู้ต้องขัง และเป็นกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และในตุลาคมพบที่ภาคตะวันออก จันทบุรีและตราด เป็นแรงงานล้งลำไย เป็นคนไทย 4 คน กัมพูชา 12 คน

อย่างไรก็ตาม เชื้ออัลฟาพลัส ขณะนี้พบการระบาดในประเทศกัมพูชา สาเหตุที่น่าห่วงกังวล เพราะการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของการกลายพันธุ์ที่ E484K เดียวกับเชื้อไวรัส เบตา และแกมม่า ที่มีปัญหาเรื่องการหลบภูมิคุ้มกัน แต่ก็ยังโชคดีอัลฟาพลัสในไทย ถูกเบียดด้วยเดลตา ทำให้อำนาจในการแพร่กระจายโรคไม่สูงมากและมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งนี้เตรียมสุ่มตรวจพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย และนำตัวอย่างเชื้ออัลฟาพลัส มาทดลองในห้องปฏิบัติการว่ามีการตอบสนองต่อวัคซีนอย่างไร

สาธารณสุข
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ส่วนเดลตาพลัสนั้น นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจคำว่า “พลัส” กันผิด คำว่า พลัสไม่ได้หมายความเชื้อมีความรุนแรง แต่เป็นการบ่งบอกว่าเชื้อมีการกลายพันธุ์มากขึ้น โดยเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์มากถึง 47 ชนิด ทำให้ต้องมีการกำหนดการเรียกใหม่ จากเป็นสายพันธุ์ย่อยของเดลตา โดยใช้คำนำหน้าว่า AY โดยในประเทศไทย พบสายพันธุ์ย่อยของเดลตาแบบกระจายหลากหลายชนิด พบมากที่สุดคือ AY.30 จำนวน 1,341 คน และ AY.39 จำนวน 83 คน และ AY.23 จำนวน 23 คน

ทั้งนี้ ยังไม่พบสายพันธุ์ย่อย เดลตา AY.4.2 ที่มีการจับตาเฝ้าระวัง เพราะมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง Y145H และ A222V ทำให้อำนาจในการแพร่โรคได้เร็ว กว่าเชื้อเดลตาเดิม 10-15% ปัจจุบันพบการระบาดในอังกฤษ แต่สำหรับไทย ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ย่อยนี้

สาธารณสุข

ส่วนไทยจากการติดตามเฝ้าระวัง ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์กองทัพบก AFRIMF พบการติดเชื้อสายพันธุ์ AY. ในคนไทย 1 คน ที่ จ.กำแพงเพชร ที่มีการรักษาตัวใน รพ.สนาม ขณะนี้รักษาหายแล้ว โดยสายพันธุ์ AY.1 ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงคือ K417N ยังไม่มีอันตรายหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างไรมีนัยยะสำคัญ แต่ที่มีการรายงานเพราะเคยมีการระบาดในต่างประเทศมาก่อน โดยการตรวจพบสายพันธุ์ต่าง ๆ ของกรมวิทย์ฯ จะมีการรายงานต่อ GSAID ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าระวังของเชื้อไวรัสโควิดในขณะนี้ก็เหลือแค่ 3 ตัวเท่านั้น คือเดลตา เบตา และแกมม่า และเชื่อว่าในอนาคตเชื้อโควิด จะค่อย ๆ อ่อนกำลังลงกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนกับไข้หวัดใหญ่ แต่ตอนนี้ยังต้องสวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ

นายสาธิต กล่าวเพิ่มเติมว่า การรายงานพบอัลฟาพลัส และเดลตาพลัส ไม่ได้มีผลกับความเชื่อมั่นในการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนเพราะเป็นคนละส่วนกัน และเป็นการติดตามเฝ้าระวังของไทย และมีการรายงานอย่างโปร่งใสมาตลอด อีกทั้งการเปิดประเทศ จะมีการระบบการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อด้วยRT-PCR ก่อน กำหนดให้โรงแรมที่พักและตรวจหาเชื้อต้องอยู่ใกล้สนามบิน ในระยะเวลาการเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo