COVID-19

สธ. ห่วงงานศพ ตัวการแพร่เชื้อโควิด-19 เผยไทยเจอเดลตา พลัสแล้ว 1 ราย

สธ. ห่วงกิจกรรมในงานศพ ปัจจัยเสี่ยงเกิดการแพร่เชื้อโควิด-19 เผยล่าสุดเจอผู้ติดเชื้อเดลตา พลัสในไทย 1 ราย

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการติดและแพร่เชื้อโควิด-19 ในกิจกรรมงานศพ โดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์เชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 19 ตุลาคม 2564 มีผู้ติดเชื้อ 747 ราย

247150663 4322849904430276 8729587162668956957 n

ตัวอย่างเช่น จ.จันทบุรี มีผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับงานศพ 153 ราย อุบลราชธานี 119 ราย ปราจีนบุรี 79 ราย อุดรธานี 72 ราย สระแก้ว 39 ราย เป็นต้น

สำหรับกิจกรรมเสี่ยง คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน การดื่มสุราและใช้แก้วน้ำร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัยผิดวิธีหรือไม่สวมหน้ากากอนามัย เล่นพนัน การพักค้างแรมร่วมกับเจ้าภาพ รวมถึงการเข้าร่วมงานทั้งที่มีอาการป่วย

ดังนั้น ขอให้ผู้ไปร่วมงานเว้นระยะห่าง ไม่ถอดหน้ากากอนามัย ไม่ควรดื่มสุราร่วมกันเพราะจะทำให้เกิดความใกล้ชิดและหย่อนยานการระมัดระวังตัวจนเกิดการแพร่กระจายเชื้อระหว่างพูดคุยหรือไอจามได้

ส่วนความกังวลของเชื้อโควิคสายพันธุ์เดลตา พลัส ในช่วง 28 วันที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญได้ติดตามการติดเชื้อในประเทศอังกฤษพบว่าเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 6% ของสายพันธุ์อื่น ๆ การแพร่ระบาดส่วนใหญ่ยังคงเป็นสายพันธุ์เดิม

นพ.เฉวตสรร นามวาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข มีระบบเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลเพิ่มเติมตลอดเวลา ขอให้ประชาชนอย่ากังวล เนื่องจาก องค์การอนามัยโลกยังไม่มีการยกระดับของสายพันธุ์ ที่ผ่านมาประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลต้า พลัส เพียง 1 ราย และไม่มีรายอื่นที่เกี่ยวเนื่อง

ด้านสถานการณ์โควิด-19 วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 9,589 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 8,675 ราย เสียชีวิต 44 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มโรคเรื้อรังถึง 95% ขอให้กลุ่มดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อลดป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับการติดเชื้อใน กทม. และปริมณฑลขณะนี้ลดลงสอดคล้องกับภาพรรวมประเทศ

นพ.เฉวตสรรกล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ชายแดนใต้ ยังมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 23% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เร่งรัดการฉีดวัคซีน จัดทีมเชิงรุกค้นหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อแยกผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง เข้าสู่ระบบรักษา และเพิ่มจำนวนเตียงให้เพียงพอ

นอกจากนี้ ในช่วงที่น้ำหลากอาจพบการติดเชื้อโควิด 19 เป็นกลุ่มก้อนจากการเล่นน้ำ เนื่องจากมีการใกล้ชิด พูดคุย สัมผัสสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย หรือติดจากคนในครอบครัวที่ติดเชื้อแต่มีอาการน้อยและนำไปแพร่โรคได้”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo