COVID-19

ไวรัสกลายพันธุ์ ‘เดลตา พลัส’ แพร่กระจายไวขึ้น 10-15% นักวิจัยจับตาองค์ประกอบใหม่

“ดร.อนันต์” เปิดความลับไวรัสกลายพันธุ์ เดลตา พลัส หวั่นแพร่กระจายไวกว่าเดลตา สายพันธุ์ดั้งเดิม 10-15% พร้อมเกาะติดวัฒนาการจากการเปลี่ยนตำแหน่งใหม่

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เผยสถานการณ์ไวรัสกลายพันธุ์ เดลตา พลัส โดยระบุว่า

เดลตา พลัส

AY.4.2 หรือ Delta Plus เป็นสายพันธุ์ย่อยของ Delta ที่มีการแพร่กระจายเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มขึ้นในประเทศอังกฤษ เชื่อว่า อาจสามารถแพร่กระจายได้ไวกว่า Delta สายพันธุ์ดั้งเดิมได้ประมาณ 10-15% แล้วแต่พื้นที่ที่เก็บข้อมูล จนได้เลื่อนขั้นเป็น Variant under investigation (VUI) โดยหน่วยงานสาธารณสุขของอังกฤษ

เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงบนโปรตีนสไปค์ของ AY.4.2 เทียบกับ Delta และ AY ตัวอื่นๆ จะพบว่า มีอยู่ 2 ตำแหน่งที่ดูจะจำเพาะต่อ AY.4.2 คือ Tyrosine ตำแหน่งที่ 145 เปลี่ยนเป็น Histidine (Y145H) และ Alanine ที่ตำแหน่ง 222 เปลี่ยนเป็น Valine (A222V) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใส่ดาวไว้ในภาพ

จริง ๆ แล้ว AY.4.2 มีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งอื่นด้วยที่ต่างจาก Delta เดิม แต่เป็นตำแหน่งที่ซ้ำกับ AY ตัวอื่น จึงทำให้ไม่เป็นที่สนใจเท่าไหร่

เดลตา 1

ทั้งนี้ตำแหน่งสำคัญๆของ Delta ยังมีอยู่ครบใน AY.4.2 จึงเป็นไปได้ว่า AY.4.2 คงเป็น Delta ที่อาจมีคุณสมบัติอะไรบางอย่างเพิ่มมากขึ้น โดยคุณสมบัติเก่า ๆ ของ Delta ไม่ได้หายไป

Y145H และ A222V เป็นตำแหน่งนอกส่วนที่สไปค์ใช้จับกับโปรตีนตัวรับ ทำให้เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของไวรัส ในการจับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ได้แน่นขึ้น หรือ ดีขึ้นเหมือนการเปลี่ยนแปลงที่พบใน VOC ตัวอื่นๆ

นอกจากนี้ Y145H และ A222V ไม่เคยพบใน VOC ก่อนหน้านี้มาก่อนไม่ว่าจะเป็น Alpha, Beta หรือ Gamma

A222V เคยพบในสายพันธุ์ B.1.177 ที่เคยระบาดมาตั้งแต่ปีที่แล้วในยุโรป และหายไปจากนั้นไม่นาน ส่วน Y145H พบเกิดขึ้นได้กระจัดกระจาย และ เคยพบเกิดพร้อม ๆ กันในสายพันธุ์เก่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมษายนปีที่แล้ว และ ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล

ประเด็นคือ เมื่อ Y145H และ A222V มาเกิดร่วมกับอีกหลาย ๆ ตัวใน Delta จึงเกิดเป็นองค์ประกอบที่ไม่เคยพบมาก่อน กลายเป็น AY.4.2

ในตอนนี้ คงเป็นหน้าที่ของนักวิจัย ที่ต้องศึกษาเชิงลึกไปว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะเป็นผลเกื้อหนุนให้ Delta เก่งขึ้นจริงหรือไม่ และ ด้วยกลไกใด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo