COVID-19

ปลัดสธ.ลั่น ต้องเลือก!! ร่วมมือกันเพื่อลดผู้ติดเชื้อ ถ้าไม่ทำหวั่นป่วยพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน

ปลัดสธ.ชี้ ไทยอยู่บนทางแยก หลังล็อกดาวน์หมดผลประสิทธิภาพแล้ว ต้องช่วยกันร่วมมือเพื่อลดผู้ติดเชื้อ ลั่นถ้าไม่ทำผู้ติดเชื้อพุ่ง 3 หมื่นรายต่อวัน พร้อมเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ได้ 85% ธันวาคมนี้

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยว่า ขณะนี้เดินทางมาถึงทางแยกแล้ว มีเพียง 2 ทางเท่านั้น ทางซ้ายคือการติดเชื้อของเราจะเริ่มมากขึ้นกว่าที่เคยมีตามพยากรณ์อากาศถึง 3 หมื่นรายต่อวัน ส่วนทางขวาจะค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือ 5,000 รายต่อวันและต่ำกว่า 5,000 รายต่อวัน

ลดผู้ติดเชื้อ

ดังนั้น หากต้องการลดผู้ติดเชื้อ ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล ตรวจ ATK ทุก 3 วันหรือ 7 วัน หากป่วยก็เข้าสู่ระบบดูแลรักษา กรณีไม่ป่วยก็ป้องกันตัวเองต่อไป รวมทั้งต้องร่วมมือร่วมใจกันฉีดวัคซีน เพื่อให้ครอบคลุมประชากร

หากเราสามารถกดการติดเชื้อให้ต่ำจนถึงสิ้นปีได้ การครอบคลุมของวัคซีนดีขึ้นมาก ต้นปีใหม่เราน่าจะมีความสุขมากขึ้น โดยคาดว่า กลางปี 2565 โควิดน่าจะคลี่คลาย หลังโจมตีเรามากว่า 2 ปี

ปัจจุบัน ประเทศไทย ว่า อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก และการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง โดยวันนี้ (7 ตุลาคม) มีติดเชื้อรายใหม่ 11,200 ราย เสียชีวิต 113 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนสะสม 57,387,052 โดส เข็มที่ 1 จำนวน 33,774,684 ราย เข็ม 2 จำนวน 22,005,722 ราย และเข็ม 3 จำนวน 1,606,646 ราย เฉพาะผู้สูงอายุ ฉีดเข็ม 1 แล้ว 59.3% ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคฉีดเข็ม 1 แล้ว 62% ส่วนนักเรียน 12-17 ปี เป้าหมาย 4 ล้านคน ฉีดแล้ว 7.4 หมื่นคน คิดเป็น 1.7%

วัคซีน 1

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า จากจำนวนวัคซีนที่ค่อนข้างเพียงพอ ทำให้สิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ครอบคลุม 43 ล้านโดส หรือ 61% เข็ม 2 จำนวน 26 ล้านโดส หรือ 37% เดือนพฤศจิกายน ฉีดเข็ม 1 ครอบคลุม 75% เข็ม 2 ครอบคลุม 55% ตัวเลขนี้ถือวาเป็นมาตรฐานของโลก และเมื่อเข้าเดือนธันวาคม เข็ม 1 จะมีความครอบคลุม 85% เข็ม 2 ครอบคลุม 70%

ขณะเดียวกัน เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อของไทยพบว่า สถานการณ์ในกทม. และปริมณฑล มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกทม. ค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ การติดเชื้อต่ำลงเรื่อย ๆ อยู่ในระดับที่ควบคุมได้

ส่วนต่างจังหวัดตัวเลขการติดเชื้อค่อย ๆ ลดลงช้า ๆ ยกเว้น 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มมากขึ้น และต้องพยายามควบคุมป้องกันโรคให้ได้ ทั้งการปูพรมฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม การค้นหาผู้ติดเชื้อ แยกตัว เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการระบาดเหมือนในกทม.

เกียรติภูมิ
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

การที่ประเทศไทยอยู่ตรงทางแยก เพราะประสิทธิผลของการล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้น่าจะหมดแล้ว ดังนั้นจากนี้หากเราไม่ทำอะไรก็จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกมีการคาดการณ์ว่าน่าจะถึง 3 หมื่นรายต่อวัน เพราะมีการผ่อนคลายกิจกรรม

 เปิด 3 ข้อเสนอลดผู้ติดเชื้อ

1. มีการฉีดวัคซีน ซึ่งขอความร่วมมือจากประชาขนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยในเดือนตุลาคม ตั้งเป้าให้ได้ 60% พฤศจิกายน 75% และธันวาคม 85%

2. มาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล ปรับทัศนคติ โดยต้องคิดว่าทุกคนแม้แต่คนในครอบครัวคือติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ จึงต้องป้องกันตัวเองทุกทาง

3. การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิด (ATK ) ควบคู่กับมาตรการป้องกันโรคครอบจักรวาล

4. การรวมตัวของกลุ่มคน เพราะมีการผ่อนคลายกิจกรรม กิจการต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนที่ของคน มีการรวมตัวกัน เช่น ร้านอาหาร โรงหนัง งานสัมมนา การละเล่นต่างๆ

ดังนั้น ขอให้มีการจัดมาตรการพื้นที่ปลอดโควิด (Covid free setting) ต้องจัดให้มีการเว้นระยะห่าง ตรวจสอบระบบระบายอากาศ พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตรวจ ATK สม่ำเสมอ รวมถึงคนใช้บริการก็ต้องปฏิบัติแบบเดียวกัน

เฉวตสรร
นพ.เฉวตสรร นามวาท

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค(คร) กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจเชิงรุกด้วย ATK ในรอบ 24 ชั่วโมง ตรวจแล้ว 96,000 ตัวอย่าง ผลเป็นบวก 4,783 ราย

อย่างไรก็ตามพบว่า ATKที่แจกจ่ายฟรีให้ประชาชน มีการแจ้งผลกลับมาน้อยไม่ถึง 10% จึงอยากให้ประชาชนนำ ATK มาใช้ และแจ้งผลให้ทราบ เพราะหากไม่ใช้ เก็บไว้นาน ทำให้คุณภาพลดลง หมดอายุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo