COVID-19

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ‘ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์’ แจงเงื่อนไข เวลา พร้อมวิธีจองละเอียด

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเงื่อนไขจองฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ที่ฉีดซีโนแวค หรือแอสตราเซนเนก้า ครบ 2 เข็มกับราชวิทยาลัยฯ อ่านเงื่อนไขที่นี่

ศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ประกาศแนวทางการรับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ฉีดวัคซีนเข็ม 3

วัคซีนหลัก

เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) สำหรับผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนหลัก (Sinovac และ AstraZeneca) เข็ม 1 และเข็ม 2 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ช่วงเวลาในการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

1. ผู้ที่รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มในช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดระบบให้ท่านลงนัดหมายเข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ตามลำดับช่วงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนี้

  • กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 20-29 ตุลาคม 2564
  • กลุ่มอายุ 59-69 ปี นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564
  • กลุ่มอายุต่ำกว่า 59 ปี นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน- 24 ธันวาคม 2564
  • กลุ่มโรคเรื้อรังทุกช่วงอายุ นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

2′ ผู้ที่รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ในช่วงเดือน กรกฏาคม-กันยายน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดระบบให้ท่านลงนัดหมายเข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ตามลำดับช่วงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ดังนี้

  • กลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ 2565
  • กลุ่มอายุ 59-69 ปี นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 15-28 กุมภาพันธ์ กุมภาพันธ์
  • กลุ่มอายุต่ำกว่า 59 ปี นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ระหว่างวันที่ 1-10 มีนาคม 2565
  • กลุ่มโรคเรื้อรังทุกช่วงอายุ นัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

11 1

ขั้นตอนและแนวทางการเข้ารับวัคซีนหลักเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

1. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มที่สองมานานกว่าก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะทยอยส่ง SMS ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ท่านเคยลงทะเบียนไว้ในระบบราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการเข้ารับวัคซีนเข็มแรก

ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านเข้าสู่ระบบผ่านเว็บไซต์ https://vaccinecovid19.cra.ac.th และเลือกวันนัดหมายเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ตามช่วงเวลาที่กำหนด (กรณีท่านไม่ได้รับ SMS สามารถเข้าไปเลือกวันนัดหมายผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยระบบจะเปิดสิทธิ์ของท่านให้เลือกวันตามช่วงเวลาที่กำหนดในแต่ละกลุ่ม)

2. วัคซีนหลักเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน จะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รับการจัดสรรโควต้ามาจากกระทรวงสาธารณสุข

หรือหากท่านมีประวัติแพ้วัคซีน สามารถแจ้งขอรับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ (จากข้อมูลทางวิชาการที่มีรายงานว่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนเชื้อตายก็สามารถเพิ่มระดับการป้องกันได้ แม้ระดับภูมิคุ้มกันอาจจะไม่สูงเท่าการกระตุ้นด้วยวัคซีนประเภทอื่น)

3. หากเคยติดเชื้อหลังได้รับการฉีดเข็มที่สอง ให้เริ่มนับการมารับเข็มกระตุ้นภูมิเป็นระยะเวลา 60 วันหลังการติดเชื้อ

4. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ให้ความสำคัญในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเวลาที่เหมาะสม และยังอยู่ระหว่างการให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบ 2 เข็มกับกลุ่มประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางตกสำรวจ และไม่มีทะเบียนอยู่ในประเทศ เพื่อลดโอกาสการกลายพันธุ์และการระบาดมาสู่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

หากท่านใดวิตกและประสงค์จะได้รับการกระตุ้นภูมิก่อนเวลาที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์กำหนด ท่านสามารถไปลงทะเบียนเข้ารับการฉีดกับศูนย์บริการอื่นๆ ได้

22 1

วัคซีนทางเลือก

เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster Dose) สำหรับองค์กรนิติบุคคล และโรงพยาบาล ที่ให้บริการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม กับทางราชวิทยาลัยฯ

สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนฟาร์ม หรือผู้ที่มีความประสงค์ใช้วัคซีนทางเลือก (โดยชำระเงินและบริจาคเพื่อกลุ่มเปราะบางตามนโยบายเดิมของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเปิดให้จองวัคซีน Sinopharm และ Moderna ในรูปแบบองค์กรนิติบุคคล และโรงพยาบาลเท่านั้น (ไม่มีการเปิดรอบบุคคลทั่วไป) โดยมีกำหนดการและแนวทางดังนี้

กำหนดการเปิดจองวัคซีนทางเลือกเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สำหรับองค์กรนิติบุคคล/โรงพยาบาล

ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2564 จนถึง 30 ธันวาคม 2564

วัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน Sinopharm

  • ลงทะเบียนจองพร้อมชำระเงินเต็มจำนวน ภายใน 5 วันทำการเมื่อได้รับการแจ้งจัดสรรวัคซีน
  • กำหนดเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นภูมิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี 2565 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบจัดสรรวัคซีนที่รับฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทั่วประเทศ

วัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน Moderna (50 ไมโครกรัม)

ลงทะเบียนจองพร้อมชำระเงินมัดจำ 50% ของราคาวัคซีนเมื่อเข้ามาทำการจอง และชำระเงินส่วนที่เหลือภายใน 5 วันทำการเมื่อได้รับการแจ้งจัดสรรวัคซีน

กำหนดเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป จนถึงสิ้นปี 2565 ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบจัดสรรวัคซีนที่รับฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ทั่วประเทศ

หมายเหตุ: สำหรับรายละเอียดข้อกำหนดการจองและอัตราค่าวัคซีนทางเลือกเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันจะประกาศให้ทราบอีกครั้งทางเพจศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สำหรับผู้ที่เคยได้รับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มในรูปแบบบุคคลทั่วไป ขอให้ท่านติดตามการจองวัคซีนทางเลือกเข็มกระตุ้นภูมิจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับการจัดสรรวัคซีนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้บริการฉีดแทนโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะไม่เปิดรับจองในรูปแบบบุคคลทั่วไปในการจัดสรรครั้งนี้

  • ข้อแนะนำแนวทางการเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
  • ไม่แนะนำการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในสตรีอายุต่ำกว่า 40 ปี หรือผู้ที่ใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด หรือมีภาวะการแข็งตัวของเลือดมากกว่าปกติในทุกช่วงอายุ
  • ไม่แนะนำการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเร็วเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในช่วงที่การระบาดไม่รุนแรง เพราะมีข้อมูลพบว่าหากยืดระยะห่างการฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้นานขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม จะได้รับการตอบสนองระดับภูมิคุ้มกันขึ้นดีกว่า
  • วัคซีนชนิดเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนฟาร์ม หรือ ซิโนแวค ควรฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันห่างจากเข็มสองอย่างน้อย 3-6 เดือน
  • วัคซีนชนิดอื่นๆ ได้แก่ แอสตร้าเซนนิก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์น่า จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สปุตนิก ควรฉีดเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันห่างจากเข็มสองอย่างน้อย 7-8 เดือน
  • กรณีติดเชื้อโควิด-19 หลังได้รับการฉีดเข็มที่สอง ให้เริ่มนับการมารับเข็มกระตุ้นภูมิระยะเวลา 60 วันหลังการติดเชื้อ
  • การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์มมีการคาดการณ์ว่าอาจจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรงได้ประมาณ 4-8 เดือน และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา จะช่วยป้องกันได้ประมาณ 8-10 เดือน

ทั้งนี้ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสที่ระบาด ณ ขณะนั้น โดยที่ท่านยังต้องเคร่งครัดในการป้องกันตนเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการสวมใส่หน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง และเลี่ยงที่แออัดอากาศไม่ถ่ายเท

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo