COVID-19

‘หมอเฉลิมชัย’ เปิดข้อมูลประสิทธิผลวัคซีน ไฟเซอร์เหนือกว่าแอสตร้าฯ

“หมอเฉลิมชัย” เผยประสิทธิผลวัคซีน ต่อสายพันธุ์เดลตา ไฟเซอร์ลดลงน้อยกว่าแอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันการติดเชื้อดีกว่า

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เทียบประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสเดลตา ระหว่างไฟเซอร์ กับแอสตร้าเซนเนก้า โดยรวมไฟเซอร์เหนือกว่า โดยระบุว่า

ประสิทธิผลวัคซีน

“ชาวอังกฤษกว่า 3.3 ล้านคน ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม มีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสเดลตาลดลง ฉีด Pfizer เหลือ 69.7%  AstraZeneca เหลือ 47.3%

การเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีน ในการป้องกันโรคโควิด แบ่งได้ออกเป็นสองช่วงระยะเวลา ได้แก่

1. ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นในระหว่างการทดลองในอาสาสมัครโดยเฉพาะเฟสสาม เรียกว่า Efficacy

2. ประสิทธิผลในการฉีดวัคซีนหลังได้จดทะเบียนอนุมัติให้ฉีดในโลกแห่งความเป็นจริง( Real World ) เรียกว่า Effectiveness

โดยประสิทธิผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าคือ Effectiveness หรือประสิทธิผลของการฉีดในโลกแห่งความเป็นจริง

วัคซีนป้องกันโควิด 2 ตัวหลัก จาก 2 เทคโนโลยีคือ

1. AstraZeneca ใช้เทคโนโลยีไวรัสเป็นตัวนำ (Viral vector)

2. Pfizer ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

นพ.เฉลิมชัย1

Efficacy หรือประสิทธิผลการป้องกันโรคในอาสาสมัคร มีความแตกต่างกับ Effectiveness หรือประสิทธิผลการป้องกันโรค ในโลกแห่งความเป็นจริงมาก

และเมื่อเริ่มมีการฉีดวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง ก็มีหลากหลายรายงาน ที่มีประสิทธิผลแตกต่างกัน เช่น

ที่สกอตแลนด์ จากการฉีดประชาชนกว่า 1 ล้านคน พบว่าวัคซีน AstraZeneca และ Pfizer มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในโลกแห่งความจริง เท่าเทียมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตา พบว่า ไวรัสดังกล่าว ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนทุกชนิดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แตกต่างไปจากไวรัสสายพันธุ์อัลฟา

ประเทศอังกฤษ จึงได้เก็บข้อมูลและทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบตั้งแต่ช่วง 8 ธันวาคม 2563 ถึง 3 กันยายน 2564

ซึ่งมีทั้งช่วงไวรัสอัลฟาคือ ก่อนพฤษภาคม 2564 และช่วงไวรัสเดลตาคือ หลัง 12 เมษายน 2564

ในที่นี้จะนำข้อมูลมาเปรียบเทียบในช่วงเฉพาะไวรัสสายพันธุ์เดลตา เป็นสายพันธุ์หลัก พบว่าในคนอังกฤษ 3.3 ล้านคน มีการตรวจหาเชื้อทั้งสิ้น 3.76 ล้านตัวอย่าง

แนวทางวิเคราะห์ เทียบประสิทธิผลวัคซีน 

แยกเป็นฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 ล้าน และ Pfizer 1.7 ล้าน มี Moderna เข้ามาแทรกเล็กน้อย 1.2 แสน โดยแยกวิเคราะห์ออกเป็นสามกรณีคือ

1. ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ Pfizer ได้ 69.7% AstraZeneca ได้ 47.3%

2. ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักจนเข้าโรงพยาบาล Pfizer ได้ 92.7% AstraZeneca ได้ 77.0%

3. ประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิต Pfizer ได้ 90.4% AstraZeneca ได้ 78.7%

22 1

โดยการดูประสิทธิผลนั้น ดูที่ห้าเดือนหรือ 20 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ทำให้สรุปได้ดังนี้

1. ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันโรคของวัคซีนทั้ง Pfizer และ AstraZeneca ลดลงอย่างมาก

2. ประสิทธิผลต่อการติดเชื้อชนิดแสดงอาการ ลดลงมากที่สุด

3. ประสิทธิผลในการป้องกันการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิต ลดลงน้อยกว่า

4. Pfizer มีประสิทธิผลในภาพรวมสูงกว่า AstraZeneca

5. ประสิทธิผลดังกล่าว กระทบกับผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่าคนที่อายุตั้งแต่ 64 ปีลงมา

คงจะต้องดูรายงานอื่น ๆ ประกอบไปด้วยในอนาคต แต่ในเบื้องต้น รายงานฉบับนี้ซึ่งฉีดในคน 3.3 ล้านคน ก็มีน้ำหนักที่น่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo