COVID-19

‘ตรีนุช’ เผยแผนเปิดเทอม 2 เดินหน้าฉีด ‘วัคซีนไฟเซอร์’ ให้นักเรียน ต.ค.นี้

“ตรีนุช” เปิด 2 แนวทาง เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 เดิหน้าฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้นักเรียนนักศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้ เริ่มที่ 29 จังหวัดแดงเข้มก่อน พร้อมทำโครงการ “โรงเรียน SSS” สำหรับโรงเรียนประจำทั้งรัฐ และเอกชน ย้ำไม่บังคับ 

วันนี้ (13 ก.ย.) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ร่วมแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า”

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า ศธ. ได้เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างใกล้ชิด และมีการถอดบทเรียนจากการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือ 5 On ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางการเปิดภาคเรียนต่อไป ให้มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

วัคซีนไฟเซอร์

จากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ. กับ สธ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) เบื้องต้นมีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ได้แก่

  • แผนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม แก่กลุ่มผู้ที่มีอายุ 12 ปี จนถึง 17 ปี 11 เดือน 29 วัน ณ วันที่ฉีด

โดยจะอนุโลมให้แก่ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุเกิน 17 ปี 11 เดือน 29 วันด้วย ครอบคลุมนักเรียน นักศึกษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตร วิชาชีพชั้นสูง (ปวส) หรือ เทียบเท่า รวมถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีอายุ 12 ปี

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นตันไป จะเริ่มฉีดให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด (สีแดงเช้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน แต่ตั้งเป้าหมายให้นักเรียน นักศึกษาทุกคน ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 1 อย่างครบถ้วน

ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ได้อนุมัติในหลักการ ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษาทุกสังกัด กว่า 4.5 ล้านคน ทั้งศธ. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนการศึกษาพระปริยัติรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และกรุงเทพมหานคร

  • แผนการดำเนินโครงการโรงเรียน Sandbox Safety Zone in School (SSS)

เป็นมาตรการสำหรับโรงเรียนประจำ เช่น โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนเอกชนที่มีความพร้อม โดย ศธ.จะประสานกับ สธ. ในการลงพื้นที่ตรวจโรงเรียน ที่จะประสงค์เข้าโครงการว่า เป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่

การเป็นโรงเรียน SSS มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

  • เป็นโรงเรียนประจำ
  • เป็นไปตามความสมัครใจ
  • ผ่านการประเมินความพร้อม

โดยต้องแจ้งความประสงค์ผ่านตันสังกัด มีการหารือร่วมกับผู้ปกครอง และผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดให้มีสถานแยกกักตัวในโรงเรียน (School Isolation) จัดให้มี Safety Zone ในโรงเรียน มีการติดตามประเมินผลโดยทีมตรวจการของศธ. และสธ. รวมถึงมีการรายงานผล ผ่าน MOE COVID และ Thai stop covid plus

วัคซีนไฟเซอร์

ในขณะนี้มีสถานศึกษาจำนวน 15,465 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยใน 12 จังหวัด มีสถานศึกษา จำนวน 1,687 แห่ง ที่อยู่ในเขตพื้นที่ 45 อำเภอปลอดเชื้อ แบ่งเป็น

  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,305 แห่ง
  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 111 แห่ง
  • สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 21 แห่ง
  • สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 250 แห่ง

ศธ. จะพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษา สำหรับการเปิดภาคเรียนตามบริบทที่เหมาะสม

“ศธ.ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน นักศึกษา เป็นอันดับแรก โดยได้ปรึกษาและประสานงานอย่างใกล้ชิด และการฉีดวัคซีนให้เด็กจะเป็นไปตามความสมัครใจ ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดย ศธ. จะเร่งสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ เกี่ยวกับประโยชน์ของการฉีดวัคซีน รวมถึงวิธีการปฏิบัติก่อนและหลังการฉีดวัคซีน”

สำหรับการฉีดวัคซีนให้ครู และบุคลากรทางการศึกษานั้น ขณะนี้มีครูได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 70% โดยแผนการจัดสรรวัคซีนในเดือนตุลาคมนี้ จะให้สถานศึกษาส่งรายชื่อครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาด้วย เพื่อเร่งจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มครู

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo