COVID-19

‘หมออดุลย์’ ฟันธง ปัจจัยความสำเร็จควบคุมโควิด-19 รู้แล้วต้องช่วยกัน

“หมออดุลย์” ชี้ชัด การตรวจเชิงรุก รู้เร็ว รักษาเร็ว ปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ฉีดวัคซีน ล็อกดาวน์ เป็นตัวประกอบ ย้ำทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน

ศ.คลินิก นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “บันทึกเรื่องน่ารู้ by Dr.Adune”  ถึงปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 โดยระบุว่า

ควบคุมโควิด-19

“ปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 คือ การตรวจเชิงรุก

ผมตั้งคำถามถามตัวเองว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เราควบคุมโควิด-19 ได้ ทั้งในปีที่แล้ว และ ปีนี้

ถ้าสังเกตปีที่แล้ว เราใช้การไล่ไทม์ไลน์ และจับคนที่สงสัยทุกคนตรวจ กักตัวคนที่เสี่ยง

กรณีนี้ รับมือกับ การระบาดขนาดเล็กได้ดี แต่พอปีนี้ ระบาดใหญ่ ปัญหาการไล่ไทม์ไลน์ คนจำนวนมากเป็นไปได้ยาก ถึงเป็นไปไม่ได้เลย และ การตรวจ RT PCR ก็รู้ผลช้า ตรวจได้จำกัดต่อวัน จึงไม่สามารถตรวจหาคนที่ติดเชื้อได้ทัน

ระลอกมิถุนายน 2564 ที่ประเทศไทยมีการระบาดหนักมาก จนทุกคน เป็นกังวลว่าเราจะเป็นเหมือนใน อเมริกา ยุโรป หรือ อินเดีย หรือไม่ และแล้ว เราก็ทำให้การระบาดเลยจุดสูงสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ใช้เวลาในการคุมโรคประมาณ 2 เดือน

ผมเฝ้าถามถึงปัจจัยความสำเร็จของการควบคุมโรค หลายคนบอกว่า

1. การฉีดวัคซีน จะช่วยได้ โดยทฤษฏีแล้ว จะหยุดการระบาดได้ต้องมีการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 70-85% ประชากร แต่ในความเป็นจริง เรายังฉีดวัคซีนได้ไม่มากขนาดนั้น ปัจจัยเรื่องวัคซีน จึงเป็นส่วนช่วย แต่อาจจะไม่ใช่ หัวใจของความสำเร็จ

2. การล็อกดาวน์ คือ หัวใจของความสำเร็จหรือไม่ คิดว่าคงมีส่วนบ้าง แต่ไม่มาก เพราะว่า ที่เราเห็น ๆ กันอยู่ จะมีก็แต่ ร้านอาหาร ที่คนไม่สามารถเข้าไปรวมตัวกัน แต่ก็ยังมีการแอบจัดปาร์ตี๋ การจำกัดการเดินทาง ก็ไม่เข้มข้น และเราก็ประกาศ ล็อกดาวน์ กันเป็นลำดับ เหมือนเป็นการเตือนพวกเราให้ระมัดระวังตัว

3. การตื่นตัว และ ป้องกันตนเอง ของคนไทยทุกคน อันนี้ น่าจะมีส่วนอย่างมาก และ ก็พวกเราทำได้ดี แต่ ก็มีกลุ่มคนที่ไม่สนใจเรื่องนี้ ไม่ใส่หน้ากาก กินอาหารเป็นกลุ่ม ออกมาชุมนุม และ แหล่งชุมชนแออัด โรงงาน แคมป์คนงาน ก็ยังไม่สามารถดูแลได้ดีอย่างมีประสิทธิภาพ

ผมจึงคิดว่า ทั้ง 3 เรื่อง ไม่น่าจะเป็น ปัจจัยหลักของความสำเร็จ

หมออดุลย์

ดูจาก กราฟ สถิติ จะพบว่า แนวโน้มของการระบาดเริ่มลดลง หลังผ่านต้นเดือนสิงหาคม

4. ขณะนั้น ได้เริ่มมีการตรวจเชิงรุก ด้วย ATK และ กระทรวงสาธารณสุข นำนโยบาย การตรวจ ATK การกักตัวที่บ้าน และ การให้ยาเร็วมาใช้

ผมคิดว่า มาตรการ การตรวจเชิงรุก และ การให้การรักษาเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องมา รพ. เป็นแนวทางที่ถูกต้อง และ ได้ผล (กราฟแท่งสีเหลือง)​

ตรงนี้ เราทำงานคล้ายปี 2563 แต่ไม่ต้องเสียเวลาไล่ไทม์ไลน์ คนที่เสี่ยงตรวจเลย เพราะตรวจได้เร็ว และถ้าไม่มีอาการ ไม่ต้องมารพ. รับยา และจำกัดตัวเองอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย ที่บ้าน หรือ ที่ จุดพักคอย เราก็สามารถตีวง จำกัด การแพร่กระจายโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หัวใจความสำเร็จ ควบคุมโควิด-19

หัวใจของความสำเร็จของเรื่องนี้ คือ คนที่สงสัยว่าเสี่ยง หรือ ถูกสงสัยว่าเสี่ยง ควรเข้าถึงการตรวจ ATK ได้อย่างรวดเร็ว และ เมื่อตรวจพบ ATK + ควรได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

เท่านี้ คนที่เสี่ยง หรือ ติดเชื้อก็ให้ความร่วมมือในการอยู่กับที่ ในช่วงสั้น ๆ 2 สัปดาห์ คนที่เหลือ ก็กลับไปช่วยกันทำงาน สร้างเศรษฐกิจ ให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาใหม่

สิ่งที่รัฐ อาจจะช่วย คือ ทำให้ทุกคนรู้ว่า จะไปตรวจได้ที่ไหน รักษาได้ที่ไหน และ จุดที่รับเรื่องเหล่านั้น ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการรอเกิดขึ้น เพราะ ถ้ารอ นั่นคือ การเสียโอกาส คือ ความเสียหาย

ตอนนี้ ดูจาก สถิติ เริ่มน่าเป็นห่วงเล็กน้อย เพราะการตรวจเชิงรุก เริ่มลดลง อย่างเห็นได้ชัด

ประชาชนต้อง การ์ดไม่ตก หน่วยงานภาครัฐ ต้อง ไม่ลด การตรวจเชิงรุก

ขาดไม่ได้ที่จะต้องขอบคุณ บุคลากร ด้านสาธารณสุข ที่ช่วยกัน เป็นกำลัง ในการตรวจเชิงรุก และ ฉีดวัคซีน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มประชากร ที่มีความเสี่ยงครับ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo