COVID-19

อย่าตกใจ! กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำ ‘มิว’ ยังไม่พบในไทย เดลตาครอง 97.6%

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลั่น ไวรัสสายพันธุ์มิว” ยังไม่พบในไทย ล่าสุด เดลตาครองพื้นที่มากสุด 97.6% รองลงมาเป็น อัลฟา -แกมมา

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ไวรัสมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นตลอดเวลา มีเป็นร้อย เป็นหางว่าว ซึ่งล่าสุดสำหรับสายพันธุ์มิว ที่พบในญี่ปุ่นนั้น ทั่วโลกยังพบน้อยมาก 0.1% โดยในสหรัฐเจอ 2,400 ตัวอย่าง โคลัมเบียเจอ 965 ตัวอย่าง เม็กซิโก 367 ตัวอย่าง สเปน 512 ตัวอย่าง เอกวาดอร์ 170 ตัวอย่าง มีญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ยังไม่ได้พบในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สายพันธุ์มิว

ทั้งนี้ สายพันธุ์ Mu พบในโคลัมเบียเป็นที่แรก ซึ่งเจอสายพันธุ์ Mu ประมาณ 40% ปัจจุบันพบแล้วใน 39 ประเทศ โดยองค์การอนามัยโลกจัดอันดับเป็น VOI

“ขอย้ำว่า สายพันธุ์ Mu ยังต้องติดตามต่อไป เพราะมีการกลายพันธุ์ที่พบว่า หลีกหนีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ดีกว่าเดิม เนื่องจากพบการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้ Antigenic change ได้แก่ E484K โดยรวมยังไม่น่าวิตก”นพ.ศุภกิจ กล่าว

ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีการจัดชั้นการกลายพันธุ์ ที่อยู่ในความสนใจ เช่น อาจกลายพันธุ์ที่อาจแพร่ได้ หรือดื้อต่อวัคซีนได้ หรือมีความผิดปกติมากขึ้น ก็จะจัดชั้นเป็น VOI ส่วนชั้นที่น่าห่วงและกังวล VOC ขณะนี้มีอยู่ 4 ตัว คือ อัลฟา เดลตา เบตา และแกมมา

มิว

ในส่วนของประเทศไทย ปัจจุบันมีอัลฟา เดลตา และเบตา โดยลักษณะแตกต่างกัน ส่วนสายพันธุ์มิว (Mu) ยังถูกจัดชั้นว่า น่าสนใจ แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์น่ากังวล รวมไปถึงสายพันธุ์ C.1.2 ก็ยังไม่ได้ถูกจัดชั้นอะไรทั้งหมด และยังไม่ได้ถูกจัดชื่ออะไร

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบ 1,500 ตัวอย่าง พบว่า เป็นอัลฟา 75 ตัวอย่าง เดลตาพบ 1,417 ตัวอย่าง และเบตา 31 ตัวอย่าง โดยภาพรวมประเทศ 93% เป็นเดลตา เฉพาะในกรุงเทพฯ เป็นเดลตาสัดส่วน 97.6% ส่วนภูมิภาคสัดส่วนอยู่ที่ 84.8%

ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันเดลตาครองเมือง โดยเดลตา พบทุกจังหวัดครบทั้งหมด  ส่วนสายพันธุ์เบตา ยังจำกัดวงอยู่ภาคใต้ ที่เคยเจอในกทม. และบึงกาฬ จบไปแล้ว ไม่พบจังหวัดอื่น ๆ โดยสัปดาห์ล่าสุดพบในเขตสุขภาพที่ 12 คือ นราธิวาส 28 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย

ไวรัส 1

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนปัจจุบันตรวจไปแล้วเกือบ 13 ล้านตัวอย่างด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ซึ่งมีส่วนที่ไม่ได้รายงานเข้าระบบจำนวนหนึ่ง ในช่วงที่ชุลมุนมากๆ บางแล็ปอาจไม่ได้รายงานข้อมูลครบถ้วนเข้าใจว่าอาจถึง 15 ล้านตัวอย่างแล้ว นับเป็นตัวเลขไม่น้อย ยิ่งช่วงหลังระบาดมาก ก็ตรวจมากขึ้น

ล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจากนี้ถึงธันวาคม 2564 จะตรวจให้ได้ 1 หมื่นตัวอย่าง โดยจะมีน้ำยาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์แต่ะละพื้นที่ไปตรวจ จากนั้นจะมีการเชื่อมโยงศูนย์ข้อมูลระดับโลก หรือ GISAID โดยจะรายงานทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งการรายงานบ่อยๆ อาจเจอสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยก็ได้ ดังนั้น อย่าตกใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo