COVID-19

มีผลทันที!! ประกาศห้ามชุมนุม มั่วสุม ทำกิจกรรม ยกเว้น 5 กรณีที่ได้รับอนุญาต

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ประกาศห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม มั่วสุม

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ หัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 10) ระบุว่า

ประกาศห้ามชุมนุม

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบันฝ่ายสาธารณสุขได้ประเมินว่า มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี มีจำนวนผู้ที่ติดเชื้อใหม่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ได้รับการรักษาพยาบาลจนหายป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการบูรณาการ และประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย รวมทั้งความร่วมมือของภาคประชาชน รัฐบาลจึงได้ออก ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งมีการผ่อนคลายมาตรการ ควบคุมบางประการให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปด้วย ความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 15) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ข้อ 3 และคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไข สถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อ 3 (6) และข้อกำหนด คำสั่ง ประกาศ ที่เกี่ยวข้อง จึงให้ปฏิบัติ ดังนี้

ให้ยกเลิกความในข้อ 3 ของประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิด การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“3. ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มี ประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง

เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือกิจกรรม ที่ได้รับการยกเว้น ดังต่อไปนี้

  1. กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชน เพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
  2. กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
  3. กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือ ความสะดวกแก่ประชาชน
  4. การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุมโดยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
  5. กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัด

โดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ ศปม. กำหนด โดยให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2564 และข้อกำหนด (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการควบคุมแบบบูรณาการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินการตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564″

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง

ประกาศห้ามชุมนุม ประกาศห้ามชุมนุม

อ่านฉบับเต็ม ที่นี่

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo