COVID-19

‘กรมควบคุมโรค’ ชี้ โควิดไทย ‘พ้นจุดสูงสุด’ ยืนยันยังไม่พบ ‘C.1.2’ สายพันธุ์แอฟริกาใต้กลายพันธุ์ใหม่

“กรมควบคุมโรค” ชี้ การติดเชื้อโควิดในไทย พ้นจุดสูงสุดมาแล้ว หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดต่ำลงต่อเนื่อง ยืนยัน ยังไม่พบสายพันธุ์ “C.1.2” สายพันธุ์แอฟริกาใต้กลายพันธุ์ใหม่

วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 14,666 ราย และเสียชีวิต 190 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราการพบผู้ป่วยรายใหม่ลดต่ำลง ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง

แม้จำนวนผู้เสียชีวิตยังถือว่ามาก แต่ก็นับเป็นวันแรก ที่จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่า 200 ราย หลังจากรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเกิน 200 ราย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา  โดยกลุ่มที่เสี่ยงเสียชีวิตมากสูงสุดยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และกลุ่มโรคเรื้อรัง

สายพันธุ์แอฟริกาใต้กลายพันธุ์ใหม่

เมื่อดูกราฟแนวโน้มการติดเชื้อในปัจจุบันถือว่า ขณะนี้ ผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว สอดคล้องกับโมเดลที่มีการคาดการณ์ ประกอบกับผลของมาตรการที่ทำร่วมกันทำให้การติดเชื้อลดลง

สำหรับยอดรวมสะสมการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2564 อยู่ที่ 31.7 ล้านโดสแล้ว แยกเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 23 ล้าน ซึ่งครอบคลุมสูงถึง 32.5% ขณะที่เข็มที่สอง ฉีดแล้วกว่า 7.7 ล้านราย คิดเป็นความครอบคลุมเข็ม 2 อยู่ที่ 10.8%

ความห่างกันนั้น เป็นที่ระยะเวลาการฉีดห่างกันด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีน อย่างกรณีแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 และ 2 จะมีระยะห่างประมาณ 3 เดือน อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป ประเทศไทยใช้วัคซีนฉีดไขว้ เป็นสูตรหลัก คือ ซิโนแวคเข็มที่ 1 และแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ จะทำให้เข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ใกล้เคียงมากขึ้น

ยังไม่พบ สายพันธุ์แอฟริกาใต้กลายพันธุ์ใหม่ ในไทย

สำหรับกรณีมีรายงานพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้กลายพันธุ์ใหม่ หรือ สายพันธุ์ C.1.2 ในหลายประเทศ รวมทั้งจีน แล ะอังกฤษ หลังพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้นั้น นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า โดยธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด ทุกประเทศได้เฝ้าระวังเป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ดังกล่าวในประเทศไทย ขอให้มั่นใจระบบเฝ้าระวัง ที่มีการตรวจพันธุกรรมของสายพันธุ์ สัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

เมื่อทราบว่า มีการพบสายพันธุ์ใหม่จากประเทศใด จะตรวจหาในผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าว ร่วมกับการสุ่มตรวจทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงพบสายพันธุ์ที่ระบาด คือ สายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก ส่วนการตั้งข้อสังเกตหรือสรุปว่าสายพันธุ์ C.1.2 มีความรุนแรง มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ ดื้อต่อการรักษา และดื้อต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ และระบบสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งขณะนี้คงเร็วไปที่จะสรุป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo