COVID-19

โรงงานแปรรูปไก่สด โคราช ติดเชื้อพุ่ง 1,055 คน งัด ‘บับเบิลแอนด์ซีล’ คุมด่วน

กรมควบคุมโรค จัดเต็มมาตรการ “บับเบิลแอนด์ซีล” คุมการระบาดโควิดโรงงานแปรรูปไก่สด ย่าน อ.โชคชัย โคราช 28 วัน หลังพบพนักงานยืนยันติดเชื้อโควิด 1,055 คน ติดเชื้อเกิดขึ้นต่อเนื่อง 14 วัน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรณีพบการระบาดเชื้อโควิด 19 แบบกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ ที่โรงงานแปรรูปไก่สด ตั้งอยู่ในย่าน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา ส่งเจ้าหน้าที่ลงทำการสอบสวนโรคร่วมกับทีมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และทีมสาธารณสุขอำเภอโชคชัย

โรงงานแปรรูปไก่สด

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันควบคุมโรค ตามมาตรการการดำเนินการในพื้นที่เฉพาะ หรือที่เรียกว่า บับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) เพื่อให้สถานประกอบกิจการ สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยไม่ต้องปิดดำเนินการ ระหว่างที่มีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และเพื่อควบคุมจำกัดวงไม่ให้โรคแพร่ระบาดในวงกว้าง และป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชนโดยเร็วที่สุด

ด้านนายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตรวจพบผู้ติดเชื้อยืนยันในโรงงานดังกล่าวจำนวน 1,055 คน ประเมินสถานการณ์แล้วพบว่า มีการติดเชื้ออยู่ระดับมาก โดยมีอัตราการติดเชื้อมากกว่า 10% ของจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานทั้งหมด และพบการติดเชื้อเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน

ดังนั้น จึงได้ร่วมกันกำหนดให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล เป็นระยะเวลา 28 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564 – 23 กันยายน 2564 เพื่อจัดการดูแลรักษาพนักงานที่ติดเชื้อป้องกันการเสียชีวิต และควบคุมโรค ไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในโรงงาน และป้องกันการแพร่ออกสู่ชุมชน ส่วนโรงงานนั้นยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

รง.1

ทั้งนี้ ได้กำหนดการดำเนินการควบคุมป้องกันโรคของโรงงาน 3 มาตรการ ดังนี้

1. มาตรการชะลอไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกินกำลัง ที่จะกระจายเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาล โดยดำเนินการทำบับเบิลแอนด์ซีลทั้งในโรงงาน ที่พักของพนักงานทั้งภายในและภายนอกโรงงาน จนถึงการจัดรถรับส่งพนักงาน (Sealed Route) จากที่พักภายนอกเพื่อควบคุมระหว่างการเดินทางไป-กลับของพนักงานอย่างเข้มงวด โดยไม่ให้ปะปนกับคนอื่น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อสู่ชุมชน

2. มาตรการป้องกันการแพร่เชื้อสู่ชุมชน จัดระบบเฝ้าระวังแบบเข้มงวด โดยการจำกัดไม่ให้พนักงานคาร์กิลล์ ออกจากบริเวณที่พักที่จัดให้ ในส่วนพนักงานโรงแรม ซึ่งอาจจะเป็นจุดเสี่ยงที่จะนำเชื้อออกไป ได้ทำการเฝ้าระวังตรวจหาเชื้อในพนักงานโรงแรมทุก 7 วัน

3. มาตรการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในโรงงาน และที่พักพนักงานทุกคน โดยในวันที่ 31 ส.ค.- 1 ก.ย.64 จะดำเนินการขยายผลเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกลุ่มพนักงานเพิ่มเติมที่พักของพนักงานโรงงานดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมาด้วย ตั้งเป้าหมาย 50 ราย

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ได้ดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกที่บริษัทผลิตแป้งมัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.หนองบัว อ.เมืองจ.นครราชสีมา กลุ่มเป้าหมาย 200 คน เพื่อประเมินสถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 และช่วงวันที่ 4-5 กันยายน 2564 จะดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุกในชุมชนที่เป็นพื้นที่ระบาดในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ กลุ่มเป้าหมาย 500 รายด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo