COVID-19

ฉีดเข็มสามด่วน! ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ ลดเร็ว โอกาสนอน รพ.สูงหลังฉีดเข็มสอง 6 เดือน

“หมอเฉลิมชัย” เปิดผลวิจัยไฟเซอร์ พบภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ ลดลงเร็วกว่าบุคลากรทางการแพทย์ หลังฉีควัคซีนป้องกันโควิด-19 นาน 6 เดือน มีโอกาสนอนโรงพยาบาลสูงกว่าหากติดเชื้อซ้ำ ควรฉีดกระตุ้นเข็มสามด่วน

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Chalermchai Boonyaleepun” เรื่อง ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ ที่ฉีดวัคซีน ไฟเซอร์ สองเข็ม ลดลงมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์ และมีโอกาสป่วยต้องนอนโรงพยาบาลสูง จึงเป็นกลุ่มที่ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสาม เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ โดยระบุว่า

ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ

“ภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็ม ลดลงมากกว่าบุคลากรทางการแพทย์

วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของบริษัท Pfizer มีรายงานเรื่องระดับภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลในการป้องกันโรค สูงมาโดยตลอด

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ก็เริ่มมีรายงานการศึกษาว่า ระดับภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลในการป้องกันโรคลดลงเป็นลำดับ

ยิ่งเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์เดลตา ระบาดกว้างขวางทั่วโลก และกระทบกับประสิทธิผลของวัคซีนทุกชนิด จึงทำให้เกิดคำถามสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ฉีดวัคซีนแล้วสองเข็มตามกำหนด ว่าจำเป็นจะต้องฉีดกระตุ้นเข็มสามหรือไม่

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่วัคซีนยังขาดแคลนทั่วโลก มีวัคซีนไม่พอที่จะฉีดให้กับทุกคน แล้วกลุ่มใดบ้าง ที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงแม้ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้ว จนจำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนเข็มสาม

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ

ข้อมูลที่มีในเบื้องต้น ได้ระบุกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้วว่า อาจจะป้องกันโควิดได้ไม่ดีนัก ประกอบด้วย

1. กลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะและได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นมะเร็งได้รับการฉายแสงหรือได้รับเคมีบำบัด ผู้ที่เป็นโรคติดเชื้อต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

2. กลุ่มผู้สูงอายุ

3. กลุ่มที่มีโรคประจำตัว

4. กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด

ในปัจจุบันนี้ สหรัฐ ได้กำหนดให้ฉีดกระตุ้นเข็มสาม ในประชาชนกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ (เกือบ 3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด)

อิสราเอล ให้ฉีดกระตุ้นเข็มสาม ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

1 17

ภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ ลดลงเหลือน้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์

ส่วนในประเทศไทย มีนโยบายและเริ่มให้ฉีดกระตุ้นเข็มสามกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac สองเข็ม

รายงานการศึกษาวันนี้ เป็นการติดตามผลการฉีดวัคซีน Pfizer สองเข็มไปนาน 6 เดือน ในสองกลุ่มตัวอย่างคือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์

การศึกษาพบว่า ระดับภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ ลดลงเหลือน้อยกว่าในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ที่อายุน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น Anti SARS-CoV-2 S1 หรือ RBD-IgG และในกลุ่มภูมิคุ้มกันที่ทำลายไวรัสโดยตรง (NAb)ก็ลดลงชัดเจน เมื่อเทียบกับกลุ่มบุคลากร

นอกจากนั้น ระดับการทำงานของทีเซลล์ (T-cell) ซึ่งร่วมกับภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส ก็มีผลการทำงานลดลง แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์
ทำให้พบผู้สูงอายุที่ฉีดวัคซีนสองเข็มแล้ว เป็นเวลาตั้งแต่หกเดือนขึ้นไป เริ่มมีอัตราการติดเชื้อ การป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่าและได้รับวัคซีนสองเข็มเท่ากัน

แต่ถ้าในกรณีที่ผู้สูงอายุ ไม่ได้ออกไปนอกบ้าน ไปสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ แม้มีระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า แต่สัมผัสเสี่ยงกับผู้ป่วยมากกว่า ก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุ เป็นสองกลุ่มที่มีความเสี่ยง และอยู่ในลำดับที่จะได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มสามใกล้เคียงกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo