“หมอเฉลิมชัย” เปิดผลวิจัยเทียบวัคซีน 4 ยี่ห้อ พบแอสตร้าฯ ป้องกันการเสียชีวิตได้มากที่สุด ตามด้วยไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม ขณะที่ไฟเซอร์ เหนือกว่าซิโนฟาร์มทุกมิติ สรุปฉีดดีกว่าไม่ฉีดชัดเจน
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Chalermchai Boonyaleepun” ระบุผลวิจัยจากบาห์เรน เปรียบเทียบประสิทธิผลวัคซีน 4 ยี่ห้อได้แก่ ไฟเซอร์ (Pfizer) แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) สปุตนิก ไฟว์ (Sputnik V) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ดังนี้
“ฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดอย่างชัดเจน
รายงานการศึกษาที่บาห์เรน เปรียบเทียบประสิทธิผล 4 วัคซีน ไฟเซอร์ (Pfizer) แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) สปุตนิก ไฟว์ (Sputnik V) และซิโนฟาร์ม (Sinopharm)
จากการที่พบ ไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ หลากหลาย ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งได้รับการพัฒนาไว้ สำหรับต่อสู้ไวรัสสายพันธุ์เดิมจากอู่ฮั่น ว่าจะมีประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริง (Real world) เมื่อพบกับไวรัสกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตามากน้อยอย่างไร
รายงานการศึกษา ที่ทยอยออกมาเป็นระยะ ยังตอบคำถามได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมักจะเป็นรายงานการศึกษาของวัคซีนแต่ละชนิด ว่ามีประสิทธิผล(Effectiveness) ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น
รายงานการศึกษาครั้งนี้ ที่บาห์เรน ได้แก้ปัญหาจุดอ่อนดังกล่าว โดยศึกษาเปรียบเทียบ การฉีดวัคซีนถึง 4 ชนิด ในประชากรของบาห์เรนในห้วงเวลาเดียวกัน ที่มีไวรัสชนิดเดียวกัน และดูในกลุ่มประชากรที่อายุใกล้เคียงกัน
ผลที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นชนิดใดใน 4 ชนิด ล้วนมีประโยชน์ หรือมีประสิทธิผลในทุกมิติ เหนือกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน
การเปรียบเทียบวัคซีน 4 ยี่ห้อ
จากวัคซีนสองชนิดที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน และช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และ ไฟเซอร์ (Pfizer) พบว่า วัคซีนของไฟเซอร์ มีประสิทธิผลเหนือกว่าซิโนฟาร์ม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การเก็บสถิติ รวบรวมที่ประเทศบาห์เรน ซึ่งมีประชากร 1.5 ล้านคนและมีการฉีดวัคซีนไป 1 ล้านคน
2. ติดตามการฉีดวัคซีน 4 ชนิด ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า สปุตนิกไฟว์ ซิโนฟาร์ม
โดยการติดตามนั้น จะดูผลลัพธ์ 4 มิติด้วยกัน ได้แก่
- อัตราการติดเชื้อ
- ป่วยมีอาการจนต้องนอนรพ.
- ป่วยอาการหนักต้องเข้าไอซียู
- อัตราการเสียชีวิต
พบว่าในช่วงวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ถึง 17 กรกฎาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีน Sinopharm 569,000 54 ราย Sputnik V 184,526 ราย AstraZeneca 73,765 ราย Pfizer 169,058 ราย
พบว่าอายุเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มวัคซีนใกล้เคียงกันคือ 35-39 ปี ประชากรที่รับวัคซีนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และไวรัสสายพันธุ์ที่เด่นเป็นหลัก ได้แก่ สายพันธุ์เดลต้า
จากการติดตามข้อมูลพบว่า มีผู้ติดเชื้อโดยวิธีทดสอบ PCR 180,840 ราย มีอาการต้องเข้ารพ. 13,105 ราย อาการหนักเข้าไอซียู 1636 ราย และเสียชีวิตทั้งสิ้น 1030 ราย
เมื่อดูสถิติการเสียชีวิตพบว่า กลุ่มที่ฉีดวัคซีนทุกชนิด มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ถ้าดูอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มฉีดวัคซีนของ Sinopharm 0.46% Pfizer 0.15% AstraZeneca 0.03%
ในขณะเดียวกัน เมื่อดูสถิติตัวอื่นทั้งเรื่องการติดเชื้อ การต้องนอนโรงพยาบาล และการป่วยหนักเข้าไอซียูก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด
1. เรื่องจำนวนผู้ฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่แก้ไขโดยการปรับเป็นสัดส่วน และสถิติทางระบาดวิทยา เพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว
2. เริ่มฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไม่พร้อมกัน ได้แก้ไขโดยการตัดกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนบางชนิดเร็วเกินไปออก เทียบกันเฉพาะในช่วงเวลาที่ฉีดวัคซีนใกล้เคียงกัน และพบไวรัสเดลต้าเหมือนกัน
รายงานนี้จึงสรุปได้ว่า
1. วัคซีนทั้ง 4 ชนิดได้ผลดีเหนือกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนในทุกมิติ ทั้งอัตราการติดเชื้อ การป่วยเข้าโรงพยาบาล การป่วยหนักเข้าไอซียู และการเสียชีวิต
2. วัคซีนคู่ที่เทียบกันได้ทางสถิติคือ Pfizer กับ Sinopharm พบว่า Pfizer มีประสิทธิผลเหนือกว่าทั้ง 4 มิติ
3. วัคซีนของ AstraZeneca ดูจะมีบางมิติที่เหนือกว่า Pfizer และบางมิติที่พอๆกัน แต่การเปรียบเทียบยังทำได้ไม่ชัดเจน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ญี่ปุ่น สั่งระงับฉีดวัคซีน Moderna ชั่วคราวพบปนเปื้อนในขวด
- พรุ่งนี้แตะล้านราย ‘หมอเฉลิมชัย’ ชี้ผู้ติดเชื้อโควิดยังทรงตัววันละ 2 หมื่นราย 9 วันติด
- ‘หมอเฉลิมชัย’ ชี้ สิ้นเดือน ส.ค. ไทยอาจมียอดติดโควิดทะลุล้าน-ตายครบหมื่น