COVID-19

เตือนแล้วนะ อย่าซื้อออนไลน์ ยาฟาวิพิราเวียร์ สปสช.พร้อมส่งถึงบ้านผู้ป่วยรอเข้า HI

สปสช. เตือนผู้ป่วยโควิด-19 อย่าซื้อออนไลน์ ยาฟาวิพิราเวียร์ ผิดกฏหมาย จ่ายแพงเกินจริง ลั่นพร้อมส่งยาให้ผู้ป่วยถึงบ้าน หากเริ่มมีอาการแต่ยังไม่ได้เข้าระบบ Home Isolation ช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น 70%

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 พยายามจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ด้วยการซื้อออนไลน์ ขอเตือนว่ายานี้ไม่มีจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากยาจะสต๊อกไว้ที่องค์การเภสัชกรรม และถูกควบคุมโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ยาฟาวิพิราเวียร์

ดังนั้น ถ้ามีการขายออนไลน์ ไม่ควรไปหลงเชื่อ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และบางรายจำหน่ายในราคาที่สูงเกินจริง

นอกจากนี้ สปสช. ยังได้จัดระบบส่ง ฟาวิพิราเวียร์ ให้ผู้ป่วยที่รอเข้า Home Isolation ในระบบสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งก่อนหน้านี้ กว่าผู้ป่วยจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็เป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองแล้ว แต่ช่วงหลังจำนวนผู้ป่วยรอเตียงมีจำนวนมากขึ้น และเมื่อรอเตียงนานอาการก็แย่ลง

ประกอบกับมีเรื่องการทำ Home Isolation และ Community Isolation โดยเมื่อผู้ป่วยติดต่อมาที่ 1330 ต่อ 14 หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สปสช. ไลน์ สปสช. @nhso จะมีการจับคู่ระหว่างหน่วยบริการกับผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มีมาก หน่วยบริการรองรับได้ไม่ทัน ดังนั้นภายใน 24-48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ 1330 จะโทรกลับไปสอบถามว่า มีหน่วยบริการมาดูแลแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่มี และอาการป่วยเริ่มเปลี่ยนแปลง สปสช.จะส่งยาให้ผู้ป่วยก่อน โดยจะให้ Rider จัดส่งยาให้ถึงบ้าน ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตลงไปได้มาก

นพ.จักรกริช โง้วศิริ
นพ.จักรกริช โง้วศิริ

สำหรับเกณฑ์ที่จะจ่ายยา เป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมการแพทย์กำหนด คือ กลุ่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ยกเว้นหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มที่เริ่มมีอาการ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ไข้เกิน 1-2 วัน 2. เริ่มมีอาการไอ 3. เหนื่อยหอบ 4. ถ่ายเหลว รับประทานอาหารไม่ได้

อาการเหล่านี้ คืออาการสำคัญที่ต้องรีบจ่ายยา โดยปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับน้ำหนักตัว เช่น คนที่น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม จะทานยาขนาด 200 มก.ติดต่อกัน 5 วัน รวม 64 เม็ด และถ้าทานฟ้าทะลายโจรอยู่ ก็ให้งดฟ้าทะลายโจรก่อน

จากการติดตามหลังการจ่ายยา พบว่า ประมาณ 70% ของผู้ป่วยอาการดีขึ้น ถือเป็นจุดสำคัญเพราะผู้ป่วยอาการไม่หนัก เตียงในโรงพยาบาลก็จะไม่แออัด และมีที่ว่างรองรับคนไข้หนักได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาที่เจอคือที่อยู่ไม่ชัด หรือบอกแต่บ้านเลขที่ ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกบ้านเลขที่ ชื่อหมู่บ้าน ตรอก ซอย ถนน ให้ชัดเจนเพื่อความรวดเร็วในการจัดส่งยา

เมื่อผู้ป่วยได้รับยาไปแล้ว ยังต้องมีหน่วยบริการเข้ามาดูแลติดตามอาการ ซึ่งเดิมวางแผนว่าจะเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่น ในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัย แต่เนื่องจากคลินิกมีบุคลากรไม่พอ สปสช. จึงพยายามหาหน่วยงานใหญ่ๆ เข้ามาช่วยดูแล ตลอดจนมีคลินิกใหม่ ๆ ที่สนใจและสมัครเข้ามา รวม ๆ แล้วกว่า 100 แห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo