“หอการค้าไทย” เสนอ 6 มาตรการเร่งด่วน แก้ปัญหาแรงงานไทย-ต่างชาติในสถานการณ์โควิด จี้จัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาเป็นเวลานาน และมีสถิติตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 คน/วัน ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศจากการล็อกดาวน์ รวมถึงผลจากการระลอกที่ 3 และระลอกที่ 4 จากเดือนมกราคม-สิงหาคม 2564 จะมีมูลค่าประมาณ 8 แสน ถึง 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากประเทศไทยต้องมีการขยายการล็อกดาวน์ต่อไป อาจส่งผลกระทบเกิน 1 ล้านล้านบาทสำหรับปีนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสติดลบ -1.5 ถึง 0%
ทั้งนี้ แม้กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการเยียวยาดูแลประชาชน ผู้ประกันตน และสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องแล้ว หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ปัจจุบันถึงการดูแลทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ ในกลุ่มคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ผู้ประกอบการโรงงาน ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งภาคการส่งออก ภาคการผลิต การแปรรูปสินค้าวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งยังได้รับการจัดการที่ล่าช้า
โดยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอเสนอมาตรการด้านแรงงานในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันเป็นการเร่งด่วน 6 มาตรการ ดังนี้
เร่งรัดการจัดสรรวัคซีน
1. มาตรการเร่งรัดการจัดสรรวัคซีนให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะพื้นที่สีแดง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปในจังหวัดใกล้เคียงและควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ให้มีจำนวนสูงมากไปกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องวัคซีนเป็นประเด็นใหญ่ เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มแรงงานได้รับการจัดสรรวัคซีนแค่ 2.5 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อแรงงานที่มีอยู่ในประเทศไทย ทั้งแรงงานในระบบ และนอกระบบ คนไทย และคนต่างชาติ แค่แรงงานในมาตรา 33 ก็มีถึง 11 ล้านคนแล้ว จึงมีความกังวลว่าภาคการผลิตทั้งในประเทศ และการส่งออกจะได้รับผลกระทบหากแรงงานติดเชื้อโควิดจนส่งผลให้การทำงานหยุดชะงัก
ดังนั้น ขอให้ภาครัฐ และกระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีนในจำนวนที่เพียงพอต่อจำนวนแรงงาน เพื่อลดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วที่มักเกิดในโรงงานต่าง ๆ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วันที่ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งนี้ การท่องเที่ยวจะกลับมาให้บริการได้นั้น แรงงานภาคบริการในหลาย ๆ จังหวัดนอกเหนือจากจังหวัดภูเก็ต มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน
2. สนับสนุนโครงการ Factory Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยต้องเร่งขับเคลื่อนจับคู่ระหว่างสถานประกอบกิจการ โรงพยาบาล และภาครัฐในพื้นที่ ภายใต้แนวคิด “ตรวจ รักษา ควบคุม ดูแล” ซึ่งมีการนำร่องแล้วในจังหวัดสมุทรสาคร
3. เร่งรัดการจัดหาเตียงสำหรับผู้ประกันตนและในกลุ่มแรงงานที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะเตียงสีเหลือง และเตียงสีแดง เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนัก
4. จัดสรรวัคซีนให้เข้าถึงกลุ่มแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งที่ไม่ใช่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เช่น แรงงานต่างชาติที่อยู่นอกระบบ หรือเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายมีจำนวนกว่า 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีน รวมทั้งแรงงานกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดลง และยังไม่ได้ต่ออายุ
5. ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ได้ผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ จำนวน 1.3 ล้านคน ให้สามารถทำงานต่อในราชอาณาจักรไทยได้นั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการจัดสรรวัคซีน และจับคู่งานกับนายจ้าง (Matching) เพื่อให้เข้าสู่ระบบโดยเร็ว
6. จัดตั้ง Team Thailand เพื่อศึกษาแนวทางการนำเข้า และบริหารจัดการแรงงานต่างชาติใหม่ในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจำนวน 500,000 คน และศึกษาแนวทางการนำเข้าแรงงานต่างชาติ MOU แบบบูรณาการตามมาตรการของสาธารณสุข
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- พิษล็อกดาวน์ ค้าปลีก-ร้านค้า สูญเสีย 7 แสนล้าน 9 สมาคมเอกชน ร้อง ศบค.-สธ. คลายล็อกด่วน!!
- วิตกอัตราเสียชีวิต ‘คนท้องติดโควิด’ สูงลิ่ว จี้ทุกจังหวัด เร่งสแกนหา พาตัวฉีดวัคซีน
- ยอดฉีดวัคซีนโควิดสะสมทั่วไทยพุ่ง 28.19 ล้านโดส เข็ม 3 ฉีดแล้วเกือบหมื่น