COVID-19

สรุป!!ฉีดวัคซีนไขว้ ซิโนแวค+แอสตร้า ภูมิคุ้มกันสูงเทียบ แอสตร้า 2 เข็ม ฉีดเข็ม 3 แอสตร้า ภูมิพุ่ง 11 เท่า

กรมวิทย์ฯ เปิดผลศึกษาฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวค+แอสตร้าฯ หลัง 14 วัน ภูมิคุ้มกันสูง ซิโนแวค 2 เข็ม และเทียบเท่า แอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสั้นลง ส่วนกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ กระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ที่แนะนำให้ฉีดวัคซีนไขว้ (SV+AZ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับ ศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกัน ในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน

ฉีดวัคซีนไขว้

ทั้งนี้ ได้ใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

สำหรับการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ได้รับวัคซีน CoronaVac หรือซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV)

กลุ่มที่ 2 ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม (AZ+AZ)

กลุ่มที่ 3 ได้รับวัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ)

กรมวิทย์

กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)

กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย Covilo หรือซิโนฟาร์ม 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)

กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)

ผลการศึกษา พบว่า ระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่าง ๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส (ดังแสดงในแผนภูมิ)

ภูมิคุ้มกัน

จากภาพจะเห็นว่า การให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีด AstraZeneca เข็มแรกและตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)

ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า ในขณะที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Sinopharm (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีน เชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า

จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า นโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) การศึกษาต่อไป กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับ และการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 เพื่อวางแผนการให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo