COVID-19

อย. เต้น ‘พิมรี่พาย’ ไลฟ์ขายน้ำแถมชุดตรวจ ATK ลั่นผิดพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์

อย. เตือน พิมรี่พาย ไลฟ์ขายน้ำแถม ATK เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ “จำหน่าย จ่าย แจก มีความหมายเท่ากับเป็นการขาย” โทษคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่น เตรียมส่งหนังสือเตือน เรียกเข้าชี้แจง

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า  กรณี น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ หรือ พิมรี่พาย ไลฟ์สดขายน้ำเปล่า ต่อมาระบุเป็นน้ำแร่สามโคก แถมชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ไม่สามารถทำได้ เพราะตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ ถือว่าการจำหน่าย จ่าย แจก มีความหมายเท่ากับเป็นการขายทั้งหมด ไม่เช่นนั้นคนจะเอาเหตุผลนี้ไปทำการแจกแถม ซึ่งเป็นอันตราย เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง

พิมรี่พาย

นอกจากนี้ ชุดตรวจ ATK ยังเป็นการอนุญาตให้ขายเฉพาะในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาล เท่านั้น ซึ่งกรณีนี้ เป็นการขายโดยบุคคล ถือว่าไม่ได้รับไม่อนุญาตให้ขาย

ส่วนการโฆษณา ต้องมีการขออนุญาตจาก อย. ก่อน แม้จะเป็นคนที่สามารถโฆษณาขายได้ เช่น ร้านขายยาก็ต้องมาขออนุญาตว่าจะโฆษณาด้วยคำพูดอย่างไรที่ไม่มีการพูดเกินจริง เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะโฆษณาก็ต้องขออนุญาต โดยเฉพาะโฆษณาด้วยการออกสื่อเช่นนี้ ถือเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ต้องขออนุญาตก่อน แต่ไม่ได้ขออนุญาต อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่นำมาขาย ยังต้องดูว่า ขึ้นทะเบียนกับ อย.เรียบร้อยหรือไม่

นพ.สุรโชค กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย มีโทษตั้งแต่เบาไปหาหนัก สูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดังนั้น อย.จะมีการส่งหนังสือเตือนไปยังพิมรี่พาย และให้เข้ามาพูดคุยกัน ซึ่งจะต้องดูเจตนาด้วย ว่าเจตนาหรือไม่ หรือทำเพราะไม่รู้ว่าผิด เพราะบางคนที่ อย.เตือนไปแล้วก็เข้าใจ

สุรโชค ต่างวิวัฒน์1
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์

พร้อมกันนี้ ขอย้ำว่า อย.ไม่ได้ห้ามเรื่องการโฆษณา สามารถโฆษณาได้ แต่ อย.ไม่ได้อนุญาตให้ทุกผลิตภัณฑ์ ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เสี่ยง หรือเสี่ยงไม่มาก ประชาชนสามารถซื้อหามาใช้ได้ เช่น ยาสามัญประจำบ้านก็โฆษณาได้ ถ้าเป็นยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษก็ไม่อนุญาตให้โฆษณา หรือแม้แต่อาหาร ถ้าเป็นอาหารทางการแพทย์ก็ไม่ได้อนุญาตให้มีการโฆษณาขาย แต่โฆษณาเฉพาะกับบุคคลบางอย่างได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ อย.อนุญาตให้ทำการโฆษณาได้ ก็ต้องมาขออนุญาตโฆษณา เพื่อให้ อย.ดูเรื่องข้อความการสื่อสารถึงประชาชน ว่าไม่มีการโอเวอร์เคลมหรือโฆษณาเกินจริง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo