COVID-19

อ่านให้ชัด!! เปิดผลประชุม ‘ศบค.’ ล่าสุด มีมาตรการอะไรบ้าง เช็คเลย

เปิดผลประชุมศบค. ล่าสุด ที่ประชุมคงมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ถึง 31 สิงหาคม 2564 พร้อมปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

วานนี้ (16 ส.ค.) ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 12/2564 (ผ่านระบบ Video Conference)

ผลประชุมศบค

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค. โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติให้คงระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และตามมาตรการเดิมต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 18-31 สิงหาคม 2564 โดยเพิ่มมาตรการและการจัดการองค์กร ให้มีการดำเนินมาตรการ Test-Trace-Isolate เพิ่มการตรวจ ATK ใน กทม. และปริมณฑล ให้เน้นการ Work From Home พร้อมเตรียม Company Isolation สำหรับหน่วยงานที่มีพนักงานเกิน 50 คน

โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดทำ Thai Covid Pass เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วสามารถใช้บริการในสถานประกอบการต่าง ๆ ได้ และเห็นชอบเปิดกิจการธนาคารและสถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้า

มีรายละเอียด ดังนี้

1. แผนการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ขณะนี้ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนไปแล้ว ทั้งสิ้น 23,592,227 โดส ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้บริการวัคซีนโควิดอย่างน้อยจำนวน 10 ล้านโดส ในเดือนกันยายน 2564 โดยเร่งฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มโรคเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

ขณะเดียวกัน ได้เห็นชอบเกณฑ์ และแผนการจัดสรรวัคซีนเดือนกันยายน 2564 การจัดหาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ได้แก่ Sinovac จำนวน 12 ล้านโดส และ ให้เจรจาจัดหาวัคซีนอื่น ๆ อีกจำนวน 10 ล้านโดส ภายในปี 2564

ผลประชุมศบค

2. การประเมินมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากการจัดระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา มีการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 29 จังหวัด ซึ่งเป็นกรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดทางภาคใต้ และจังหวัดที่มีการระบาดในสถานประกอบการ และเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ทั้งในระดับชุมชนและสถานประกอบการ

จากการประเมินผลติดตามยังพบว่า สถานการณ์การระบาดของโรคยังมีแนวโน้มไม่ลดลง ทั้งกทม. ปริมณฑล และจังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งหลายจังหวัดยังมีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ยังมีการระบาดในวงกว้างทั้งในชุมชน และ ครอบครัว จังหวัดในภาคกลาง ตะวันออก และภาคใต้ยังพบการระบาดในสถานประกอบการ จังหวัดในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ยังพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนา

ทั้งนี้ จึงยังให้คงมาตรการในการป้องกันควบคุมโรค ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 ในพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และปรับมาตรการบางส่วนเพื่อความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง และการป้องกันควบคุมโรค ในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นเพื่อลดการเสียชีวิตจากโควิด 19 และลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ดังนี้

  • การคงระดับพื้นที่สถานการณ์ยอ่ยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรและตามมาตรการเดิมวันที่ 18-31 สิงหาคม 2564
  • การเพิ่มมาตรการ และการจัดการขององค์กร
  • ให้ประชาชน องค์กร สถานประกอบการ สามารถตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยตัวเองได้ โดยรัฐสนับสนุนให้มการใช้อย่างทั่วถึง และเน้นย้ำให้ประชาชน ใช้การป้องกันตนเองของประชาชนในทุกกรณี (Universal Prevention)
  • ปรับมาตรการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้เปิดกิจการธนาคาร/สถาบันการเงินในห้างสรรพสินค้าได้

ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุข จัดทำเป็นแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับข้อกำหนดเดิม รวมทั้งกำกับติดตามมาตรการ รวมทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายเศรษฐกิจกำกับติดตามมาตรการขององค์กร และการควบคุมโรคเฉพาะสถานที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุนการดำเนินงาน

ผลประชุมศบค

3. มาตรการควบคุมสำหรับการเดินทางเข้าออกทางน้ำ เฉพาะกรณีเรือที่ไม่มีสัญชาติไทย เพื่อปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียม ภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล โดยที่ประชุมมีมติอนุญาตให้เรือที่ไม่มีสัญชาติไทยพร้อมเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะเดินทาง เข้ามาในราชอาณาจักรได้ เพื่อปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวกับกิจการปิโตรเลียมหรือภารกิจอื่นใดบนยานพาหนะ หรือสิ่งปลูกสร้างในทะเล หรือภารกิจบนบก โดยให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับอนุมัติ หลักการนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยจะประกาศเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาต่อไป

4. การเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเชื่อมต่อจังหวัดนำร่องอื่น (7+7) โดยที่ประชุมเห็นชอบให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระงี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่) ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

ผลประชุมศบค

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม ศบค. ยังได้รับทราบการขออนุญาตผ่อนผันจัดการจัดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมร่วมกันของรัฐสภา และขออนุญาตผ่อนผันการเคลื่อนย้ายในห้วงเวลาการห้ามออกนอกเคหสถาน และ มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ (Bubble & Seal) และโครงการนำร่อง การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน (Factory Sandbox) ด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo